๑. นายกรัฐมนตรีกัมพูชามิได้มีการเชิญเอกอัครราชทูตไทยประจำกัมพูชาไปร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือในเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะ แต่มีการกล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ในงานวันต่อต้านยาเสพติดโลก เกาะเพชร กรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ ๒๖ มิ.ย. ๒๕๕๗
๒. กรณีที่มีการระบุว่าการส่งแรงงานกลับของทางการไทย โดยไม่มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทำให้เกิดความผิดพลาดและเป็นการละเมิดสิทธิของแรงงานในการขนส่งแรงงานกัมพูชากลับในช่วงแรกนั้น ขอชี้แจงว่า
๒.๑ การเดินทางกลับของแรงงานกัมพูชาเกิดจากความตื่นตระหนกต่อข่าวลือที่ไม่มีมูลความจริงว่าทางการไทยจะกวาดล้างจับกุม และความตื่นกลัวความผิดของนายจ้างที่จ้างแรงงานผิดกฎหมายไว้ จึงทำการขนส่งแรงงานไปปล่อยตามเส้นทางกลับ
๒.๒ ทางการไทยเพียงแต่บังคับใช้กฎหมายตามปกติ ไม่ได้มีการกวาดล้างจับกุมแรงงานผิดกฎหมายแต่อย่างใด หรือเพ่งเล็งแรงงานสัญชาติหนึ่งสัญชาติใดเป็นพิเศษ ขณะที่แรงงานกัมพูชาจำนวนมากได้ไปมอบตัวกับทางการไทย ซึ่งก็ได้จัดยานพาหนะอำนวยความสะดวกไปส่งแรงงานที่จุดผ่านแดนถาวรต่าง ๆ โดยมิได้เปรียบเทียบปรับหรือดำเนินคดีในข้อหาเป็นแรงงานผิดกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งนี้ เป็นการปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมทุกประการ
๒.๓ หากมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน ทางการไทยพร้อมจะสอบสวนให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และดำเนินการกับผู้กระทำความผิด โดยกระทรวงการต่างประเทศได้ประสาน สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ขอให้ดำเนินการส่งรายชื่อและข้อมูลของแรงงานดังกล่าวแล้ว
?๓. นายกรัฐมนตีกัมพูชายังได้อ่านข้อความส่วนหนึ่งของหนังสือที่ พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มีถึงนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๗ ว่าประเทศไทยไม่มีจุดประสงค์ในการใช้กำลังหรือออกกฎระเบียบขับไล่แรงงานต่างด้าวออกจากประเทศไทย และนายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้แสดงการสนับสนุนการดำเนินงานของ คสช. ที่จะออกมาตรการเพื่อรับรองให้ได้ว่าสิทธิและสุขภาพของแรงงานต่างด้าวจะได้รับการคุ้มครองในประเทศไทย ทั้งนี้ คสช. กำลังจะดำเนินการทำให้แรงงานผิดกฎหมายเป็นแรงงานถูกกฎหมาย จึงต้องใช้โอกาสนี้เพื่อให้แรงงานที่ประสงค์ไปหางานทำในประเทศไทยเป็นแรงงานถูกกฎหมาย
๔. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า ระหว่างวันที่ ๑-๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเดินทางเยือนกัมพูชา โดยจะเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีกัมพูชา และรองนายกรัฐมนตรี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งในโอกาสดังกล่าวทั้งสองฝ่ายจะหารือเพื่อร่วมมือกันดูแลแรงงานเพิ่มเติมด้วย
๕. โฆษกระทรวงการต่างประเทศขอยืนยันว่า ไทยและกัมพูชามีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่เริ่มมีข่าวลือเผยแพร่ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน โดยเป็นการติดต่อและหารือระหว่าง คสช. นำโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุด เสนาธิการทหาร และเจ้ากรมยุทธการทหาร กับกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งมีปลัดกระทรวงฯ รองปลัดกระทรวงฯ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญเป็นจุดประสานงานหลัก ทั้งยังได้ประสานอย่างใกล้ชิดกับเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล และพบหารือกันในทุกระดับ หลายครั้ง เพื่อแก้ปัญหาจนสามารถบรรเทาสถานการณ์ลดความตื่นตระหนกในหมู่แรงงานลงได้แทบทั้งหมดในขณะนี้
๖. โฆษกกระทรวงการต่างประเทศขอย้ำว่า ประเทศไทยตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งกัมพูชาที่เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของไทย ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทย – กัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ฉะนั้นหน่วยงานไทยพร้อมจะดูแลและให้ความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานต่างด้าวอย่างเต็มที่ตามกฎหมายของไทย ในการนี้ ขอให้แรงงานและหน่วยงานของกัมพูชารวมทั้ง นายจ้างและหน่วยงานของไทยร่วมกันอำนวยความสะดวก ลดขั้นตอนและค่าใช้จ่ายในการส่งออกและนำเข้าแรงงานถูกหมายให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพให้มากที่สุดต่อไป
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--