สรุปคำกล่าวของนายพิศาล มาณวพัฒน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ในงาน SET Roadshow จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) วันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ ณ นครโทรอนโต ประเทศแคนาดา

ข่าวต่างประเทศ Monday July 7, 2014 13:14 —กระทรวงการต่างประเทศ

เอกอัครราชทูต (ออท.) ณ กรุงออตตาวา กล่าวขอบคุณ ตลท. ที่จัดงาน Roadshow นี้ขึ้น และขอบคุณนักธุรกิจชาวแคนาดาผู้มาร่วมงาน ที่สนใจมาลงทุนในประเทศไทย พร้อมทั้งกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีบรรยากาศที่เอื้อต่อธุรกิจอีกครั้ง (returned for business again) ภายหลังสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง และการชุมนุมโดยกลุ่มต่างๆ ซึ่งทำให้การบริหารประเทศและภาคส่วนต่างๆ ชะงักงันมาเป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่มีทางออกนั้น ได้คลี่คลายลง

ออท. กล่าวว่า ในประเทศที่ประชาธิปไตยพัฒนาโดยสมบูรณ์แล้ว (mature democracy) เช่นแคนาดา เหตุการณ์ในประเทศไทยอาจไม่เป็นที่ยอมรับได้โดยง่าย ซึ่งประเทศไทยก็เคารพในความเห็นดังกล่าวและเข้าใจในข้อห่วงกังวลของรัฐบาลแคนาดา และยืนยันว่าประเทศไทยยึดถือในประชาธิปไตยเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ขอให้มองสถานการณ์นี้ ในบริบทของการเสริมสร้างประชาธิปไตยไทยให้สมบูรณ์และเข้มแข็งขึ้น ผ่านกระบวนการสร้างความปรองดองและการปฏิรูป และเป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการค้าการลงทุนซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจต่างประเทศ

ในประเทศไทย หลายฝ่ายมองว่าที่ผ่านมาระบอบประชาธิปไตยมีข้อบกพร่องมากมาย เปรียบเป็นการออกเสียงเลือกตั้งเพื่อให้นักการเมืองที่ทุจริตกลับสู่อำนาจ โดยขาดความรับผิดชอบและการตรวจสอบและการป้องกันการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบหรือลุแก่อำนาจโดยอ้างเสียงส่วนมาก แต่ประชาชนอีกมากก็ไม่เห็นความเสียหายจากนโยบายประชานิยม แม้การกระทำดังกล่าวจะกระทบต่อวินัยการคลังของประเทศในระยะยาวแล

ก่อให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องด้านความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ สังคม และความยุติธรรมก็จะต้องได้รับการดูแลต่อไป

ความขัดแย้งแบ่งขั้วทางการเมืองในสังคม ได้ถูกเร่งเร้าและยุยงปลุกปั่นผ่านสื่อโทรทัศน์ดาวเทียมและวิทยุชุมชนที่ออกอากาศในลักษณะสร้างความเกลียดชัง จนนำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรงในช่วงการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา รวมทั้งเกิดสูญญากาศในอำนาจการบริหารราชการ ฝ่ายทหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงจำเป็นต้องเข้ามายุติวิกฤติดังกล่าว ก่อนที่เหตุการณ์จะทวีความรุนแรงขึ้น รวมทั้งเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนต่อไป

ในภาพรวม การเข้าควบคุมอำนาจโดย คสช. ได้รับการตอบสนองด้วยดี เนื่องจากเหตุความรุนแรงหมดไป การชุมนุมยุติ มีการยกเลิกประกาศเคอร์ฟิว และไม่มีการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมต่อต้าน คสช. นอกจากนี้ การจับกุมและยึดอาวุธสงครามจำนวนมากทั่วประเทศก็แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์ส่อเค้ารุนแรงหากไม่ดำเนินการใดๆ นอกจากนี้ คสช. ได้ยืนยันที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล การจำกัดสิทธิใดๆ จะกระทำเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการปลุกปั่นยุยงและสร้างความเกลียดชัง โดยสื่อมวลชนสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ นอกจากนี้ ภายหลังเหตุการณ์ต่างๆ คลี่คลาย ก็เริ่มมีสัญญาณที่ดีด้านการท่องเที่ยวและธุรกิจ เช่น ดัชนี ตลท. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เพิ่มสูงขึ้น และไม่มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit ratings)

คสช. ได้วางแนวทางขับเคลื่อนประเทศไทย (Roadmap) 3 ระยะ คือการสร้างความปรองดองแก้ไขความขัดแย้ง กระบวนการปฏิรูป และการจัดการเลือกตั้ง โดย คสช. มุ่งแก้ไขปัญหาสำคัญๆ เช่น การทุจริต การค้ามนุษย์ พลังงาน โครงสร้างพื้นฐาน ระบบภาษี และการลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ โดยในเดือนแรก คสช. ได้เริ่มแก้ไขปัญหาต่างๆ และดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว เช่น ชำระเงินจำนำข้าวแก่เกษตรกร การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณและการวางกรอบงบประมาณตามวินัยการคลัง ปรับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระยะ 8 ปี เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับแคนาดา

คสช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ชุดใหม่โดยมี หน.คสช. เป็นประธาน ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากภาคธุรกิจ เช่น หอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย โดย หน.คสช. ได้พบกับผู้แทนหอการค้าไทย-แคนาดา ด้วยแล้วและได้ทำความเข้าใจต่อสถานการณ์และการดำเนินการต่อไป ในส่วนของแคนาดาเองนั้น คสช. ได้มอบแนวทางในการเตรียมการเจรจาเขตการค้าเสรี ไทย-แคนาดา (FTA) และ ออท. ได้เชิญให้ นาย Ed Fast รมว.การค้าแคนาดา นำคณะผู้แทนภาคธุรกิจมาร่วมประชุม ASEAN-Canada Business Council ที่กรุงเทพฯ ในเดือนมีนาคม 2558 เพื่อจะได้รับฟังสรุปด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐบาลเฉพาะกาลอีกด้วย

ออท. กล่าวว่า คสช. มีความตั้งใจจริงและมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาของประเทศ อย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยจากการสำรวจพบว่าประชาชนมีความรู้สึกถึงบรรยากาศที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของอาเซียน เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาค และมีระบบเศรษฐกิจที่บริหารจัดการอย่างดี จะยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาภูมิภาคไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนต่อไป

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ