ที่ประชุมฯ เห็นพ้องว่า ปัจจุบันเกิดปรากฎการณ์การเคลื่อนตัวของความมั่งคั่งของโลก (Shifting Wealth) จากซีกโลกทางเหนือและทางตะวันตกมาสู่ซีกโลกทางใต้และทางตะวันออก อย่างไรก็ตาม การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกกลับไม่สามารถลดปัญหาความยากจนให้หมดไปจากภูมิภาคเหล่านี้ได้ เนื่องจากระบบเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันยังไม่สามารถกระจายความเจริญไปสู่ประชาชนในทุกภาคส่วนได้อย่างเท่าเทียมทำให้ผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจต่อต้านรัฐบาล ดังกรณี Arab Spring นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังแสดงความ ห่วงกังวลต่อปัญหาอัตราการเจริญเติบโตถดถอยในประเทศ Emerging Economies อันมีสาเหตุมาจากการเจริญเติบโต ที่ขาดคุณภาพ กล่าวคือ การเจริญเติบโตเกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าโดยใช้ทรัพยากรมากขึ้นแต่ไม่มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งไม่ยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากทรัพยากรจะค่อยๆ หมดลงไป ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ไม่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปได้ โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาคือ การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม และการสร้างแรงงานที่มีคุณภาพ
อธิบดีกรมเศรษฐกิจฯ กล่าวว่า ปรากฎการณ์ Shifting Wealth นั้นเกิดขึ้นจริง โดยภายหลังการรวมตัวทางเศรษฐกิจในปี ค.ศ. ๒๐๑๕ อาเซียนจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก และไทยมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางและเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของอาเซียนต่อไป นอกจากนี้ ยังได้หยิบยกกรณีของไทยที่เป็นตัวอย่างของความแตกแยกทางสังคมอันเนื่องมาจากความไม่เท่าเทียมของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จนนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมืองจากการประท้วงที่ยืดเยื้อจนนำไปสู่การเข้าควบคุมอำนาจการบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์ของไทยเข้าสู่ความสงบแล้ว มาตรการขั้นต่อไปคือการปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาโครงสร้าง ก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งต่อไป โดยขอให้สมาชิก OECD เข้าใจและให้การสนับสนุนการปฏิรูปของไทยในรูปแบบของความร่วมมือภายใต้กรอบ OECD และได้เน้นย้ำว่า การระงับความร่วมมือกับไทยจะส่งผลกระทบในทางลบต่อประชาชนชาวไทย
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--