เรียน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการ และแขกผู้มีเกียรติทุกท่าน
ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญมากล่าวปาฐกถาพิเศษในการสัมมนาในวันนี้ และได้มีโอกาสได้พบกับท่านทั้งหลายที่เป็นผู้แทนจากหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ทั่วประเทศ
ผมขอแสดงความชื่นชมสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และคณะกรรมการ AEC Prompt สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ได้ร่วมกันจัดการสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น เพื่อส่งเสริมความพร้อมของผู้ประกอบการ SMEs ในการปรับตัวและแสวงหาโอกาสทางการค้าและการลงทุน
หัวข้อ ความเชื่อมโยงอาเซียนกับ 6 ประเทศในภูมิภาค ที่ผมได้รับมอบให้กล่าวถึงในวันนี้ เป็นประเด็นที่มีความสำคัญ เพราะขณะนี้ภูมิภาคของเรากำลังมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย
เราทุกคนจำเป็นต้องมองไปไกลข้างหน้า มองไปที่อนาคต เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์เกี่ยวกับประเทศไทย และเตรียมความพร้อมให้กับทุกภาคส่วนของประเทศ รวมทั้งภาคธุรกิจ SMEs ที่เป็นสัดส่วนกว่า ร้อยละ 37 ของเศรษฐกิจของไทย
วันนี้จึงเป็นโอกาศอันดีที่จะได้แลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมอง เพื่อที่เราจะได้กำหนดวิสัยทัศน์ร่วมกัน
ผมเองก็เพิ่งกลับมาจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่เนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมาร์ เมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้
โดยตลอดการประชุม ประเด็นหนึ่งที่มีการหารืออย่างกว้างขวางและทุกประเทศเห็นความสำคัญคือ การส่งเสริมความเชื่อมโยง หรือ Connectivity
แต่เมื่อพูดถึงการเชื่อมโยง แต่ละคน แต่ละประเทศ อาจมีความเข้าใจและมีจุดเน้นที่แตกต่างกันไป นั่นก็เป็นเพราะว่า ความเชื่อมโยงมีความหลากหลาย มีหลายมิติ ทั้งในด้านการคมนาคม เศรษฐกิจ กฎระเบียบ และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน
สำหรับวันนี้ ผมจะขอกล่าวถึง 4 ประเด็นที่เกี่ยวกับความเชื่อมโยงในภาพใหญ่ คือ
หนึ่ง ความเชื่อมโยงกับการเปิดศักราชใหม่ของเศรษฐกิจไทย
สอง ความจำเป็นที่ต้องมองความเชื่อมโยงให้ไกลกว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก หรือที่เรียกกันว่า ประชาคมอาเซียน + 6 ประเทศ
สาม ความจำเป็นที่จะต้องรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำลังเดินหน้าด้วยดี และ
สี่ ความจำเป็นที่ SMEs จะต้องปรับตัวเพื่อเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยในอนาคตต่อไป
ประเด็นแรกที่จะขอกล่าวถึงคือ ความเชื่อมโยงกับการเปิดศักราชใหม่ของเศรษฐกิจไทย
สำหรับไทย การส่งเสริมความเชื่อมโยงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศและการต่างประเทศ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนความเชื่อมโยง เพราะไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากความเชื่อมโยงที่มากยิ่งขึ้นในภูมิภาค
นั่นเป็นเพราะประเทศไทยมีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การเชื่อมโยงที่กำลังเกิดขึ้นจะช่วยทำให้ไทยเปลี่ยนจากการเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาค ไปสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาคอย่างแท้จริงในอนาคตต่อไป
นี่คือศักยภาพของประเทศไทย แต่การที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทิศทางดังกล่าว
ในส่วนของการเชื่อมโยง ผมได้มีโอกาสหารือกับท่าน พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งท่านดูแลด้านเศรษฐกิจ และท่านก็ได้กรุณาเล่าให้ฟังถึงแผนงานที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมภายในประเทศทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบการขนส่งทางราง ทางถนน ทางน้ำ และทางอากาศ อาทิ
การพัฒนาระบบรางทั้งที่เป็นการซ่อมและขยายเครือข่ายเส้นทางรถไฟทางคู่ ที่สามารถรองรับระบบรถไฟที่มีความเร็วเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต
การขยายเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และ
การขยายท่าเรือมาบตพุตและท่าเรือแหลมฉบังในด้าน Eastern Seaboard เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางเรือได้มากยิ่งขึ้น และการพัฒนาท่าเรือปากบาราที่จังหวัดสตูลในฝั่งทะเลอันดามันเพื่อเชื่อมเป็น Land Bridge ไปยังท่าเรือสงขลาในฝั่งอ่าวไทย
แต่การพัฒนาความเชื่อมโยงภายในประเทศเพียงอย่างเดียวนั้นคงไม่เพียงพอ
ไทยจำเป็นต้องขับเคลื่อนการเชื่อมโยงเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคม กับประเทศเพื่อนบ้านด้วย
เป้าหมายก็คือ การพัฒนาพื้นที่ตลอดระเบียงการขนส่งหรือ Transport Corridors ให้เป็นระเบียงเศรษฐกิจหรือ Economic Corridors อย่างแท้จริง
ซึ่งหมายถึงการลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจตามแนวชายแดน การพัฒนาเมืองศูนย์กลางและเมืองประตูการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเมืองเหล่านี้จะเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายกับเมืองเศรษฐกิจคู่ขนานโดยรอบ และกับประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ ยังต้องลงทุนพัฒนา Software ก็คือกฏระเบียบเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวก ผ่านแดน การพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว หรือ National Single Window เพื่อเชื่อมต่อกับระบบ ASEAN Single Window เพื่อไม่ให้เกิดคอขวดในการผ่านแดนของคนและสินค้า
การลงทุนเหล่านี้จะก่อให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจ 3 เส้นที่จะเป็นเสมือนเส้นเลือดสำคัญที่จะหล่อเลี้ยงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคในอนาคต นั่นคือ
หนึ่ง ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เชื่อมภาคใต้ของจีนเข้ากับประเทศไทย โดยผ่านเครือข่ายถนน และเส้นทางรถไฟ ซึ่งในอนาคต สามารถขยายไปเชื่อมกับมาเลเซียและสิงคโปร์ได้
สอง ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมเมืองดานังของเวียดนามทางตะวันออกผ่านลาวมายังไทย และผ่านใจกลางประเทศไทย ไปจนถึงเมืองเมาะละแหม่งของเมียนมาร์ทางด้านตะวันตก โดยในด้านตะวันออก สามารถเชื่อมต่อไปยังมณฑลกว่างซีจ้วงทางใต้ของจีน และในด้านตะวันตก ก็สามารถเชื่อมโยงต่อไปยังอินเดียได้ด้วย
สาม ระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ ระหว่างทวายของเมียนมาร์ ฝั่งทะเลอันดามัน กับ Eastern Seaboard ในฝั่งอ่าวไทย ที่สามารถต่อไปยังกัมพูชาและภาคใต้ของเวียดนาม
สำหรับโครงการทวายนั้น เป็นโครงการที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างมากทั้งต่อ ไทย เมียนมาร์ และภูมิภาค เพราะจะเป็นการเชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทย เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ ก็จะเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าที่สำคัญต่อไป โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา
จริงอยู่ที่โครงการนี้จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และยังมีอีกหลายอย่างที่ยังต้องทำอีก แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องไม่ลืมมองภาพใหญ่ และต้องมองไปข้างหน้าที่ปลายทางถึงผลประโยชน์ต่อไทยและภูมิภาคโดยรวม
แขกผู้มีเกียรติทุกท่าน หากเราทำตามนี้ได้และนำเอาการเชื่อมโยงทั้งหลายเข้ามารวมกัน ก็จะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของเศรษฐกิจไทย และทำให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต ซึ่งหมายถึง โอกาสที่เพิ่ม มากขึ้นของภาคเอกชนไทย
ขณะนี้ ภาพที่ไทยเป็นศูนย์กลางเริ่มปรากฎขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่ยอมรับเพิ่มมากขึ้น ขอยกตัวอย่าง
ญี่ปุ่น มีนโยบายการลงทุนที่เรียกว่า ยุทธศาสตร์ไทย + 1 ซึ่งจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการที่จะต่อยอดเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านของไทยทั้งเมียนมาร์และประเทศอินโดจีน
ส่วนจีนต้องการร่วมมือกับไทยโดยการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟและเครือข่ายถนน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะยึดโยงจีนเข้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ จีนยังสนใจส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือชายฝั่งกับไทยอีกด้วย
ส่วนอินเดียนั้น ให้ความสำคัญอย่างมากกับโครงการถนน 3 ฝ่าย ไทย-เมียนมาร์-อินเดีย ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย
นอกจากนั้น อินดียยังสนใจหาลู่ทางเชื่อมต่อท่าเรือทวายกับท่าเรือเจนไน ทางตอนใต้ของอินเดีย เพื่อสอดรับกับโครงการที่จะพัฒนาระเบียงอุตสาหกรรมเจนไน- บังกะลอร์ ของรัฐบาลอินเดีย อันจะเป็นการเชื่อมโยงอินเดียเข้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทางเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง
สำหรับประเด็นที่สอง ที่จะขอกล่าวถึงและคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญของการหารือในวันนี้คือ ความจำเป็นที่ต้องมองความเชื่อมโยงให้ไกลกว่าประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก หรือที่เรียกว่า East Asia Economic Community
ขณะนี้ เป็นที่น่ายินดีที่ประเทศไทยมีความตื่นตัวอย่างสูงเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community ที่เราเรียกกันติดปากว่า AEC
ซึ่ง AEC ก็คือการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของอาเซียน 10 ประเทศเข้าด้วยกันเพื่อเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกันภายในปี 2558
แต่การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของอาเซียนไม่ได้หยุดเพียงแค่ปี 2558
วันนี้ หากมองไปรอบๆ โลก และมองไปข้างหน้า ก็จะเห็นว่า AEC อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ
อาเซียนจำเป็นต้องมองไกลกว่าปี 2558 เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์สำหรับอาเซียนภายหลังจากปี 2558 หรือที่เรียกกันว่า Post-2015 Vision ซึ่งอาเซียนกำลังหารือกันอยู่ว่า ทิศทางอาเซียนในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จะไปทางไหน
สำหรับไทย ก้าวต่อไปในด้านเศรษฐกิจของอาเซียนคือ การก้าวจาก AEC 10 ประเทศไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก หรือ East Asia Economic Community
จริงๆ แล้วการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้วด้วยแรงผลักดันของกลไกตลาด
แต่อาเซียนต้องไปไกลกว่านั้น โดยต่อยอดความร่วมมืออาเซียนกับจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ หรืออาเซียน + 3 และข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่อาเซียนทำกับประเทศคู่ค้าในเอเชียตะวันออกทั้ง 6 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นรายประเทศ ในรูปของอาเซียน +1 FTA
แล้วพัฒนาเป็นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคของอาเซียน + 6 หรือที่เรียกกันว่า Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP ต่อไปนี้ทุกท่านจะได้ยินคำนี้บ่อยขึ้น ซึ่ง RCEP จะเป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การรวมตัวกันที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นเป็นประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกได้ในอนาคต
การเจรจา RCEP นั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่กระบวนการเจรจาคงจะไม่ง่ายนัก เพราะ แต่ละประเทศมีระดับการพัฒนาแตกต่างกัน การเปิดตลาดถือว่าเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนสำหรับหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า หากทุกประเทศมีเจตนารมณ์ทางการเมืองและมองผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาวแล้ว การเจรจาที่ยากลำบาก ก็น่าที่จะสามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็น win-win ให้กับ ทุกฝ่ายได้
RCEP ถ้าจะเรียกเป็นภาษาอังกฤษคือ จะเป็น Game Changer ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจของภูมิภาค เพราะ
หนึ่ง อาเซียน + 6 จะกลายเป็นกลุ่มการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีประชากรมากกว่า 3.4 พันล้านคนหรือร้อยละ 45 ของประชากรโลก โดยมีสัดส่วนชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น และมี GDP รวมมากกว่า 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP โลก
สอง จะเป็นการตอกย้ำบทบาทของเอเชียตะวันออกที่เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลก
สาม จะเป็นการกระตุ้นการค้าภายในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศอาเซียนกันเองอยู่ที่ประมาณร้อยละ 25 ของมูลค่าการค้าต่างประเทศทั้งหมดของอาเซียน ซึ่งเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าภายในกลุ่มประเทศ EU ที่ร้อยละ 75 และ NAFTA ซึ่งค้ากันเองร้อยละ 50 แล้ว จะเห็นว่าการค้าภายในกลุ่มอาเซียนกันเองยังสามารถเติบโตได้อีกมาก
และเมื่อเกิดความตกลงระหว่างอาเซียน + 6 แล้ว การค้าขายกันเองระหว่างทั้ง 16 ประเทศก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ขนาดตลาดจะใหญ่ขึ้นแน่นอน และการแข่งขันก็จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสและความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจในไทย โดยเฉพาะ SMEs โดยปัจจุบัน ไทยมีการค้ากับกลุ่มประเทศอาเซียน + 6 สูงถึงร้อยละ 56 ของมูลค้าการค้าต่างประเทศทั้งหมดของไทย
ในขณะเดียวกัน นอกจากการเจรจาอาเซียน + 6 ที่เรียกกันว่า RCEP แล้ว ยังมีการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระดับภูมิภาคขนาดใหญ่อื่นๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการเจรจา Trans-Pacific Partnership หรือ TPP ที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ และมีประเทศสมาชิกจำนวน 12 ประเทศ รวมทั้งหลายประเทศที่กำลังเจรจา ความตกลง RCEP ด้วย
สำหรับ TPP นั้น ประเทศไทยรับทราบความกังวลของหลายฝ่ายที่มองว่าเป็นความตกลงที่มีมาตรฐานสูง ทั้งด้านทรัพย์สิททางปัญญา มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ในชั้นนี้ ไทยจึงยังเพียงแค่ติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิดไปก่อน
ส่วนที่มองว่า RCEP และ TPP จะขัดแย้งกันนั้น ผมกลับมองว่า ความตกลงทั้งสองกรอบมีเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน และสามารถเสริมซึ่งกันและกันได้ โดยเฉพาะการพัฒนาไปสู่เป้าหมายการเป็นเขตการค้าเสรีที่ครอบคลุมทั้งเอเชียแปซิฟิก หรือ Free Trade Area of the Asia-Pacific ในที่สุด
ประเด็นที่สามที่อยากจะกล่าวถึงในวันนี้คือ ความจำเป็นที่จะต้องรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
ดังที่ได้กล่าวแล้วตอนต้นว่า การเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจของภูมิภาคกำลังเดินหน้าด้วยดี และเมื่อมองไปในอนาคต ประชาคมเศรษฐกิจเอชียตะวันออกกำลังก่อตัวขึ้นแล้ว
แต่ขณะเดียวกัน การเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคกลับไม่ได้พัฒนาไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน
ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่มีการหารือกันอย่างกว้างขวางในการประชุมอาเซียนที่เมียนมาร์ ที่ผ่านมา เพราะเราเห็นว่าปัจจัยพื้นฐานที่จะเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจคือ การมีสภาพแวดล้อมทางการเมืองและยุทธศาสตร์ที่นิ่ง ฉะนั้น การเมืองระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องของทุกท่านและทุกท่านควรให้ความสนใจเพราะสามารถส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจของท่านได้
ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีความห่วงกังวลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจในภูมิภาค โดยเฉพาะสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน ที่มีการแข่งขันและความตึงเครียดมากยิ่งขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นนี้ได้ส่งผลกระทบต่อความพยายามแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ และสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งหลายท่านคงติดตามอยู่
เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนในภูมิภาค
ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงเชื่อว่า การส่งเสริมการเชื่อมโยง การรวมตัวกันทางเศรษฐกิจเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะทุกประเทศต่างได้ประโยชน์จากความมั่งคั่งร่วมกัน
และจากประสบการณ์ของอาเซียนเอง เมื่อประเทศต่างๆ มีความเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้งแล้ว โอกาสที่จะขัดแย้งกัน เผชิญหน้ากัน ก็มีน้อยลง เพราะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน ฉะนั้น การส่งเสริมการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจจึงเป็นหนทางไปสู่สันติภาพที่ถาวร
ประเด็นสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงคือ ความจำเป็นที่ SMEs จะต้องปรับตัวเพื่อเป็นเครื่องจักรสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยในอนาคต
เมื่อมองไปข้างหน้า SMEs ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 37 ของเศรษฐกิจไทย สามารถจะเป็น Engine of Growth ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้ก้าวหน้าไปอีกก้าวหนึ่งได้
โดยก่อนหน้านี้ บริษัทใหญ่ๆ ได้เริ่มปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว โดยการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในประเทศ ควบคู่กับการออกไปลงทุนในต่างประเทศ
แต่นั่นหมายถึง SMEs จะต้องปรับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น มีการผนึกกำลังเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ การรวมกลุ่ม และการพัฒนาเครือข่าย การใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ และการมองไปไกลกว่าโอกาสในประเทศไทย
แน่นอน การสนับสนุนจากภาครัฐมีความสำคัญอย่างมากสำหรับความสำเร็จของ SMEs
ผมจึงรู้สึกยินดีที่มีการกำหนดให้ การส่งเสริม SMEs เป็นวาระแห่งชาติ และกำลังมีมาตรการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ในระดับสากล และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อรองรับการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น
ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้ให้ความสำคัญอย่างมากกับการทูตทางเศรษฐกิจหรือ Economic Diplomacy เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย
ที่ผ่านมา ได้มีการจัด “ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์” เพื่อให้ข้อมูลและคำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการไทยที่จะทำธุรกิจในต่างประเทศ และสนับสนุนกิจกรรมการสร้างเครือข่ายระหว่างเอกชนไทยกับต่างประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศจึงยินดีที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นกับทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการของไทย และเพื่อให้ผู้ประกอบการของไทยได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเชื่อมโยงและการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคของเรา
สุดท้าย ผมขอขอบคุณคณะผู้จัดงานในวันนี้ ที่เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจไทยได้รับข้อมูล มีความตื่นตัว และปรับตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้มีภูมิคุ้มกันและมีความเข้มแข็งที่จะก้าวไปข้างหน้าต่อไป
ผมหวังว่า การสัมมนาในวันนี้จะประสบผลสำเร็จสมดังที่ผู้จัดได้ตั้งเป้าหมายไว้ ขอบคุณมากครับ
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--