รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้กล่าวว่า ในปัจจุบัน โดยที่อาเซียนกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งมีพลวัตรและพัฒนาการของการรวมตัว ปัญหาการเคลื่อนย้ายของคนจึงเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ประเทศต่าง ๆ ต้องมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องการแรงงานข้ามชาติ จึงทำให้ปัญหาแรงงานข้ามชาติเป็นประเด็นท้าทายร่วมกันของภูมิภาค เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งภายในประเทศและแรงงานข้ามชาติอันเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ การรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนเพื่อเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว การเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป สังคมผู้สูงอายุ และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
ประเทศไทยซึ่งมีทำเลที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของภูมิภาคและมีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา ลาว และมาเลเซีย มีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ในประเทศประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติประมาณ 1.8 ล้านคนได้เข้ามาทำงานในไทยโดยผ่านกระบวนการจัดส่งแรงงานระหว่างรัฐบาลภายใต้บันทึกความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้มีแรงงานจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งต้องได้รับการดูแลด้านการว่าจ้างและสวัสดิการอย่างทั่วถึง รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญกับการจัดการและแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบและครอบคลุมทุกมิติ โดยเน้นเรื่องการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติให้มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิมนุษชนและเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานของไทยบนพื้นฐานและหลักมนุษยธรรม โดยรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว (One Stop Service Centres) ทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงศูนย์ประสานงานแรงงานประมง รวมทั้งผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงของปัญหาการค้ามนุษย์และปัญหาด้านแรงงานอื่น ๆ
นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ เช่น การให้บริการด้านสาธารณสุข การให้คำแนะนำด้านกฎหมาย รวมถึงการจัดการศึกษาให้แก่บุตรหลานของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งประสบการณ์ของไทยในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติดังกล่าวจะสามารถเป็นแบบอย่างสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ในขณะเดียวกัน อาเซียนกับ AICHR อาจร่วมกันศึกษาแนวโน้มของแรงงานข้ามชาติในอนาคต เพื่อนำไปสู่แนวทางในการแก้ปัญหาของภูมิภาค (regional approach) ต่อไปในอนาคต
ภายหลังการหารือ คณะผู้แทน AICHR ยังได้เดินทางไปเยี่ยมศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว โรงพยาบาลสมุทรสาคร และโรงเรียนวัดศรีสุทธาราม จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเปิดโอกาสให้ AICHR ได้รับทราบข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดกับหน่วยงานภาคปฏิบัติของไทยในพื้นที่เกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อให้บริการด้านสุขภาพและการศึกษาแก่แรงงานข้ามชาติและบุตรหลานโดยไม่มีการเลือกประติบัติ เช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Healthcare Coverage) การอบรมและส่งเสริมทักษะ การเข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย และการคุ้มครองสวัสดิการอื่น ๆ รวมทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ
การจัดกิจกรรมดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนได้จัดการหารือกับ AICHR โดยกำหนดหัวข้อเพื่อร่วมกันแก้ไขประเด็นสิทธิมนุษยชนเฉพาะด้าน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของไทยในการขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--