ผลการประชุมคณะทำงานร่วม ไทย-อินเดีย ด้านการเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐาน ครั้งที่ ๒

ข่าวต่างประเทศ Friday October 10, 2014 13:38 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๗ ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วม ไทย-อินเดีย ด้านการเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐาน ครั้งที่ ๒ ณ โรงแรม VIE กรุงเทพฯ โดยมีนางรัตติกุล จันทร์สุริยา รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายไทย และนายซันเจ บัตตาจาริยา อธิบดีฝ่ายกิจการภูมิภาคใต้ของกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนอินเดีย โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเข้าร่วมการหารือด้วย อาทิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กรมเจ้าท่า กรมการบินพลเรือน ทั้งนี้ การประชุมคณะทำงานร่วมฯ ครั้งแรก จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๕ ณ กรุงนิวเดลี

ในการประชุมครั้งนี้ ไทย-อินเดีย ได้หารือเรื่องความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐานระหว่างสองประเทศ มุ่งเน้นการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันออกของอินเดียและท่าเรือฝั่งตะวันตกของไทย และการเปิดเส้นทางการเดินเรือระยะสั้น เชื่อมโยงฐานการผลิตของอินเดียและไทย โดยอินเดียแสดงความสนใจอย่างมากในโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมเร่งรัดการจัดทำความตกลงว่าด้วยบริการทางอากาศฉบับใหม่ และพิจารณาเปิดเส้นทางการบินเพื่อเชื่อมโยงไทยกับเมืองสำคัญที่มีศักยภาพในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการเดินทางของประชาชนระหว่างสองประเทศ ตามนโยบายพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาคของไทย

อินเดียให้ความสนใจโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นอย่างมากเนื่องจากสนองตอบต่อนโยบายมองตะวันออก (Look East Policy) ของอินเดีย และเห็นว่าทวายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะเชื่อมต่ออินเดียไปถึงไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายมองตะวันตก (Look West Policy) ของไทยเช่นกัน ที่ต้องการจะเชื่อมต่อกับอินเดียและกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยรับที่จะจัดกิจกรรม roadshow เรื่องนี้ที่อินเดียตามที่ฝ่ายอินเดียเสนอ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการทวายให้นักลงทุนอินเดียทราบต่อไป

ส่วนไทยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาท่าเรือของไทยในฝั่งทะเลอันดามัน อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือระนอง และโครงการ Short Sea Shipping ซึ่งเป็นแนวคิดของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ที่ต้องการพัฒนาท่าเรือระนองให้เป็นอีกทางเลือกของเส้นทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค ซึ่งผู้ประกอบการเดินเรือไม่ต้องอ้อมจากท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังลงมาถึงช่องแคบมะละกา และจะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าทางเรือ รวมทั้งสนับสนุนการค้าระหว่างไทยและอินเดีย ปัจจุบันโครงการนี้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ไทยมีแผนที่จะเชื่อมต่อท่าเรือระนองกับท่าเรือในชายฝั่งตะวันออกของอินเดียในอนาคต

ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับการที่อินเดียมีนโยบายจะทบทวนกรอบการเจรจาความตกลงทวิภาคีว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (Air Services Agreement) โดยทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะจัดให้มีการเจรจาในระดับทวิภาคีเพื่อจัดทำความตกลงฉบับใหม่ในเรื่องนี้โดยเร็ว นอกจากนี้ ไทยและอินเดียได้หารือเกี่ยวกับการเพิ่มเส้นทางคมนาคมทางอากาศ โดยอินเดียเสนอให้สายการบินของไทยพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปิดเที่ยวบินโดยสารไปลงที่เมืองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อาทิ เมืองกูวาฮาติในรัฐอัสสัม ซึ่งกำลังเติบโตและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยอาจเพิ่มจุดแวะในเมียนมาร์ (เส้นทางกรุงเทพฯ - มัณฑะเลย์ - กูวาฮาติ) เป็นต้น

หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายอินเดียยังได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงภายในอินเดียให้ฝ่ายไทยทราบ และฝ่ายไทยได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมของไทยในภาพรวมเช่นกัน โดยทั้งสองฝ่ายเชื่อว่าการเชื่อมโยงที่ดีภายในประเทศจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะเร่งรัดประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐานระหว่างไทยและอินเดีย เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในการส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศต่อไป

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


แท็ก อินเดีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ