๑. การคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศเป็นนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้กำชับให้กรมการกงสุลพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ประสบปัญหา รวมทั้งพิจารณามาตรการจัดระเบียบแรงงานประมงเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตด้วย
๒. ผู้ประกอบการประมงไทยได้ทำการประมงร่วมกับอินโดนีเซียตามกฎหมายร่วมทุนของอินโดนีเซียมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ โดยฝ่ายอินโดนีเซียต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ปัจจุบันมีเรือไทยร่วมทำประมงจำนวน ๑๖๐ ลำ (ขนาด ๗๐ - ๗๐๐ ตันกรอสส์) มีลูกเรือประมงไทยประมาณ ๔,๕๐๐ - ๕,๐๐๐ คน จับปลาบริเวณ จังหวัดมาลุกุ และใช้เกาะอำบนเป็นฐานในการขนถ่ายสินค้า มูลค่าของการทำประมงร่วมประมาณปีละ ๑๕,๐๐๐ - ๑๘,๐๐๐ ล้านบาท
๓. การช่วยเหลือลูกเรือประมงที่ตกทุกข์ได้ยากนั้น กระทรวงการต่างประเทศใช้หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศที่แสดงตนว่าตกทุกข์ได้ยากในทุกกรณีโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ และในกรณีที่เกาะอำบน กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือมาเป็นปกติก่อนหน้านั้นมาแล้ว โดยในช่วง ๔ ปีที่ผ่านมา กรมการกงสุลและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ได้ให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยกลับประเทศไปแล้ว ๒๕๙ คน (๑๑๒ คนในปี ๒๕๕๔ / ๗๐ คนในปี ๒๕๕๕ / ๔๐ คนในปี ๒๕๕๖ และ ๓๗ คนในปี ๒๕๕๗) มิใช่เพิ่งจะมาให้ความช่วยเหลือดังกรณีล่าสุด ๖ คนดังเช่นที่เป็นข่าว
๔. ขั้นตอนการให้ความช่วยเหลือลูกเรือประมงที่ตกทุกข์ได้ยากนั้น สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา จะประสานกับหน่วยงานอินโดนีเซียเพื่อแสวงหาตัวบุคคล เมื่อพบตัวแล้วก็จะพิสูจน์สัญชาติและออกเอกสารประจำตัวให้เดินทางกลับประเทศไทย รวมถึงให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นด้านที่พัก อาหารและสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น แล้วจึงจะประสานกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอินโดนีเซีย เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของทางการอินโดนีเซียก่อนส่งตัวกลับประเทศไทย ซึ่งโดยปกติแล้ว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา จะส่งตัวกลับทางเครื่องบินซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทำให้เป็นภาระของลูกเรือประมงในการชดใช้คืนทางราชการในภายหลัง
๕. ที่ประชุมได้หารือกับสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทยเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการส่งตัวลูกเรือประมงที่ตกทุกข์ได้ยากกลับประเทศไทยทางเรือของกลุ่มผู้ประกอบการประมงไทย ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับลูกเรือประมงและไม่ต้องเป็นหนี้สินกับทางราชการ (ค่าเครื่องบินประมาณ ๒๕,๐๐๐ - ๓๐,๐๐๐ บาท) อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องพิจารณาตามความสมัครใจและความปลอดภัยในการเดินทางจากประเทศอินโดนีเซียถึงประเทศไทยด้วย
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--