Dr.Murithi ได้กล่าวถึงประสบการณ์ของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้และประเทศต่างๆ ในทวีปแอฟริกาซึ่งมีการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมที่มีความปรองดองและระบบยุติธรรมที่ดีขึ้น อย่างไรก็ดี ความหมายและมุมมองต่อความยุติธรรมและการปรองดองนั้น ย่อมแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคมนั้นๆ ทั้งนี้ จากประวัติศาสตร์และประสบการณ์ที่ผ่านมา สามารถสรุปขั้นตอนในการสร้างความปรองดองเบื้องต้นดังต่อไปนี้
1. การยอมรับความผิดในอดีต –Acknowledgement of guilt
2. การแสดงความเสียใจและสำนึกผิด – Showing remorse and repenting
3. การให้อภัย – Asking for and giving forgiveness
4. การชดเชย – Paying compensation or reparation
และ 5. พื้นฐานในการปรองดอง – A basis for reconciliation
นอกจากนี้ Dr.Murithi ยังได้กล่าวถึงอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางกระบวนการสร้างความปรองดองในสังคม อันได้แก่ ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน การขาดกลไกอันเหมาะสม และโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมที่พัฒนาไปอย่างไม่สอดคล้องกัน ซึ่งการขจัดอุปสรรคเหล่านี้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของสังคมจากทุกภาคส่วน และการสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างความยุติธรรมในสังคม
การบรรยายครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้แทนของสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย อาทิ กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ และผู้แทนจากหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดจนภาคประชาสังคม สื่อมวลชน นักศึกษาและบุคคลทั่วไป
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--