ที่ประชุมนี้จะได้ติดตามผลการดำเนินงานในช่วงปีที่ผ่านมาภายใต้แผนยุทธศาสตร์โตเกียวค.ศ. ๒๐๑๒ ซึ่งเน้นการพัฒนาความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคโดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาประเทศสมาชิกให้เติบโตไปพร้อมกัน โดยส่งเสริมบทบาทเอกชนให้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าการลงทุน และการเสริมสร้างความมั่นคงของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้ที่ประชุมจะแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือในอนาคตภายหลังจากปี ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นปีที่ครบกำหนดการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์โตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๒
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะเน้นย้ำต่อที่ประชุมถึงเจตนารมณ์ของไทยในการเป็นหุ้นส่วนของญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำโขง ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาภาคการผลิตเพื่อสนับสนุนการสร้างงาน สร้างรายได้ในอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืน โดยเชิญชวนให้เอกชนญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานขยายการผลิตในประเทศลุ่มน้ำโขงในลักษณะไทย+๑ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนและการอำนวยความสะดวกขนส่งสินค้าอยู่แล้ว อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน แผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ และนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคในไทย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและการบริหารความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประชากรลุ่มน้ำโขง
กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๕๑ มีเป้าหมายหลัก คือ การลดช่องว่างทางการพัฒนา โดยจะช่วยสนับสนุนให้ประเทศอาเซียนใหม่ในลุ่มน้ำโขง สามารถพัฒนาได้ทัดเทียมประเทศสมาชิกอื่นในอาเซียน อันจะทำให้การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศเหล่านี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้ ไทยมีบทบาทเป็นประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาร่วมกับญี่ปุ่น
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--