โดยที่อาเซียนและสหประชาชาติได้รับรองปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ (Joint Declaration on Comprehensive Partnership between ASEAN and the UN) เมื่อปี ๒๕๕๔ ที่ประชุมได้หารือเรื่องการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อดำเนินความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งระบุความร่วมมือในประเด็นที่อาเซียนและสหประชาชาติให้ความสำคัญในด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญโดยเฉพาะเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายโดยเฉพาะรัฐอิสลาม โรคติดต่อ (อีโบลา) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทาภัยพิบัติ ความเชื่อมโยง การขจัดความยากจนและลดช่องว่างทางรายได้ สิทธิมนุษยชน และการจัดตั้งสำนักงานประสานงานอาเซียน - สหประชาชาติประจำกรุงจาการ์ตา
การประชุมสุดยอดอาเซียน - สหประชาชาติ ครั้งนี้ได้รับทราบเอกสารแผนงานอาเซียน - สหประชาชาติ พ.ศ. ๒๕๕๘ (ASEAN - UN Work Plan 2015) เพื่อกำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินความสัมพันธ์และความร่วมมือในประเด็นเร่งด่วนที่เป็นรูปธรรมระหว่างอาเซียนกับองค์การสหประชาชาติ เช่น ความร่วมมือด้านการรักษาสันติภาพในกรอบ ASEAN Peacekeeping Centre Network การสนับสนุนการอนุวัติแผนแม่บทความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน และการสนับสนุนการอนุวัติปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ทั้งนี้ เพื่อให้อาเซียนสามารถใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของสหประชาชาติในด้านต่างๆ อีกทั้งให้สหประชาชาติสนับสนุนบทบาทนำของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมความตั้งใจจริงของสหประชาชาติที่จะขยายความร่วมมือกับอาเซียน และกล่าวสนับสนุนแผนงานอาเซียน - สหประชาชาติ พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งจะเร่งรัดและกระตุ้นการดำเนินความสัมพันธ์ภายใต้หุ้นส่วนอาเซียน - สหประชาชาติ ให้เกิดประโยชน์ต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคอย่างแท้จริง โดยไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือภายใต้แผนงานฯ ในสี่ประเด็น ดังนี้ (๑) ความร่วมมือด้านการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (๒) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการบรรเทาภัยพิบัติ (๓) ความเชื่อมโยง และ (๔) การส่งเสริมความมั่นคงให้แรงงานข้ามชาติและการต่อต้านการค้ามนุษย์ อีกทั้งได้ผลักดันให้วิสัยทัศน์อาเซียนหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ และ UN Post - 2015 Agenda มีความสอดคล้องกัน
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--