ที่ประชุมรับทราบการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ว่าด้วยมิตรภาพและความร่วมมืออาเซียน – ญี่ปุ่น และได้หารือเพื่อกำหนดแนวทางที่จะเพิ่มพูนความสัมพันธ์ ซึ่งผู้นำของทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน การขยายความร่วมมือด้านความเชื่อมโยง การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเร่งรัดการเจรจาความตกลงเปิดเสรีการค้าบริการและการลงทุนในปีหน้า เพื่อบรรลุเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าสองฝ่ายเป็นสองเท่าใน พ.ศ. ๒๕๖๕ การจัดการภัยพิบัติ การแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ความร่วมมือด้านการศึกษาและสาธารณสุข นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับรองแถลงการณ์ร่วมระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาความร่วมมือในการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ
นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อทิศทางความสัมพันธ์และผลักดันให้ญี่ปุ่นสนับสนุนและร่วมมือกับอาเซียนในการสร้างประชาคมอาเซียนผ่านการพัฒนาความเชื่อมโยงในภูมิภาค โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาระบบการขนส่งทางราง การพัฒนาระบบรางคู่ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมทั้งสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของญี่ปุ่นในการส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค การรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ตลอดจนให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมและลดความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ ในขณะที่ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยืนยันบทบาทที่เข้มข้นในภูมิภาค และความตั้งใจที่ญี่ปุ่นจะสานต่อความเป็นหุ้นส่วนต่ออาเซียน ๔ ด้าน ได้แก่ หุ้นส่วนด้านความมั่นคงผ่านนโยบาย “Proactive Contribution to Peace” หุ้นส่วนเพื่อความมั่งคั่ง ผ่านข้อริเริ่มเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเอเชียเพื่อการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและการลงทุนแบบมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง หุ้นส่วนเพื่อคุณภาพชีวิตผ่านข้อริเริ่มอาเซียน-ญี่ปุ่นด้านสุขภาพ และหุ้นส่วนใจถึงใจโดยการให้กองทุนเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนภาคเยาวชน กีฬา วัฒนธรรม และศิลปะ
การเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - ญี่ปุ่น เป็นการรักษาบทบาทที่แข็งขันของไทยในการกระชับความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้น ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับ ๓ และเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับ ๒ ของอาเซียน และได้ให้การสนับสนุนกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--