ที่ประชุมได้หารือและทบทวนทิศทางในอนาคตของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit - EAS) และเห็นพ้องว่า EAS ควรคงความเป็นเวทีหารือเชิงยุทธศาสตร์ระดับผู้นำที่เปิดกว้างและครอบคลุมโดยมีอาเซียนเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อน รวมทั้งควรส่งเสริมค่านิยมร่วมและแนวปฏิบัติที่เป็นสากล ตลอดจนหลักนิติธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ และได้หารือเรื่องความร่วมมือและสิ่งท้าทายที่เป็นข้อกังวลร่วมกัน ได้แก่ ปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ รวมถึงการลักลอบค้าสัตว์ป่า ค้ามนุษย์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการภัยพิบัติ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระดับโลก ได้แก่ สถานการณ์คาบสมุทรเกาหลี ปัญหาความรุนแรงจากกลุ่มก่อการร้ายในอิรักและซีเรีย และความมั่นคงทางทะเล โดยเฉพาะในบริบทของสถานการณ์ในทะเลจีนใต้
นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวทิศทางและพัฒนาการของ EAS และสนับสนุนให้ EAS เปิดกว้างและเน้นแนวทางสร้างสรรค์ที่มุ่งไปสู่การรขยายความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาค โดยควรให้ความสำคัญกับประเด็นด้านยุทธศาสตร์ที่เป็นข้อกังวลร่วมกัน พร้อมกับผลักดันประเด็นความร่วมมือ ได้แก่ (๑) ปัญหาข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการลักลอบค้าสัตว์ป่า การค้ามนุษย์ และโรคระบาด โดยเฉพาะเชื้อไวรัสอีโบลา และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดการภัยพิบัติ โดยแสดงความพร้อมของไทยที่จะร่วมมือในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม และ (๒) ในด้านความเชื่อมโยง นายกรัฐมนตรีชื่นชมข้อเสนอของจีนให้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย และเสนอให้ EAS ส่งเสริมความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในอาเซียนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน
ประเด็นหนึ่งที่ผู้นำได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกันคือ กรณีทะเลจีนใต้ ซึ่งหลายประเทศย้ำการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดินแดนโดยการเจรจาอย่างสันติ โดยให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และการใช้ความยับยั้งชั่งใจไม่ดำเนินการใด ๆ ที่ทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียดมากขึ้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความเชื่อมั่นระหว่างกัน การเจรจาจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ และความพยายามของทั้งสองฝ่ายในการหาแนวทางความร่วมมือที่สร้างสรรค์ที่จะช่วยบริหารจัดการและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่จะทำให้สถานการณ์ทวีความตึงเครียด โดยเฉพาะการจัดตั้งโทรศัพท์สายด่วนระหว่างหน่วยงานด้านการค้นหาและกู้ภัย และระหว่างเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งการจัดการฝึกซ้อมการค้นหาและกู้ภัยในห้องปฏิบัติการ
ในการนี้ ผู้นำให้การรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุมครั้งนี้ ๔ ฉบับ ได้แก่ (๑) ปฏิญญาการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า (๒) แถลงการณ์การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยแนวทางในการตอบสนองอย่างเร่งด่วนต่อภัยพิบัติ (๓) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาของภูมิภาค และ (๔) แถลงการณ์การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความรุนแรงและความโหดร้ายที่เพิ่มขึ้นจากการกระทำขององค์กรก่อการร้าย/หัวรุนแรงในอิรักและซีเรีย
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--