ที่ประชุมได้หารือในประเด็นสำคัญ ได้แก่ (๑) ที่ประชุมยินดีกับความคืบหน้าของสาขาความร่วมมือสำคัญ อาทิ การรับรองความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคีฉบับปรับปรุง และการลงนามความตกลงเพื่อยกระดับสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+๓ เป็นองค์กรระหว่างประเทศ (๒) เห็นพ้องที่จะแลกเปลี่ยนแนวทางการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาสำคัญ อาทิ การส่งเสริมความเชื่อมโยงโดยการสร้างความเป็นหุ้นส่วนของภาครัฐและเอกชน การรับมือภัยคุกคามรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะภัยพิบัติและโรคระบาด สนับสนุนกลไกรองรับวิกฤติเศรษฐกิจเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน และส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารโดยการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+๓ (๓) ยินดีกับความคืบหน้าของการศึกษารายงานของกลุ่มวิสัยทัศน์ เอเชียตะวันออก กลุ่มที่ ๒ เพื่อเสริมสร้างกรอบความร่วมมืออาเซียน+๓ และหวังให้การศึกษาแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๘
นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์ในการพัฒนากรอบความร่วมมืออาเซียน+๓ ดังนี้ (๑) ใช้ประโยชน์จากเงินทุนสำรองในภูมิภาคเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสนับสนุนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาค (๒) สร้างเสริมความมั่นคงทางอาหารโดยการส่งเสริมศักยภาพขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน+๓ และส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร (๓) ส่งเสริมการรับมือภัยคุกคามข้ามแดน โดยเฉพาะโรคระบาด โดยไทยเสนอเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน+๓ สมัยพิเศษ เรื่องการเตรียมความพร้อมและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในเดือนธันวาคม และพร้อมให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในภูมิภาค ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากที่ประชุม
การประชุมสุดยอดอาเซียน+๓ เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ๑๐ ประเทศ กับจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี โดยริเริ่มขึ้นจากสาขาความร่วมมือในด้านการเงิน เพื่อรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจในภูมิภาค และได้ขยายสาขาความร่วมมือขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนครอบคลุมกว่า ๒๐ สาขาความร่วมมือในปัจจุบัน และมีเป้าหมายในการส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของการเป็นประชาคมเอเชียตะวันออกในอนาคต
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--