ผู้เข้าร่วมประชุมและผู้บรรยาย อาทิ เจ้าหน้าที่อาวุโสและผู้แทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคท้องถิ่น รวมทั้งภาควิชาการของญี่ปุ่นและประเทศลุ่มน้ำโขง ประกอบด้วย กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ในประเด็น การปรับปรุงสภาพแวดล้อมในเขตเมือง และการลดความเสี่ยงและการเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ
ที่ประชุมได้ย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนร่วมทั้งการมีส่วนร่วม ของภาคท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในลุ่มน้ำโขง และยืนยันเจตนารมย์ที่จะสานต่อความร่วมมือภายใต้แผนปฏิบัติการข้อริเริ่ม “สู่ทศวรรษลุ่มน้ำโขง เขียวขจี” ของกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นซึ่งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
ในขณะที่การพัฒนาเขตเมืองกำลังเป็นประเด็นที่มีความสำคัญมากขึ้นท่ามกลางการเจริญเติบโต อย่างรวดเร็วของประเทศลุ่มน้ำโขง การบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ นับเป็นประเด็นความท้าทายของประชาคมระหว่างประเทศและของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมากขึ้น
การประชุม Green Mekong Forum ครั้งที่ ๓ นับว่าได้จัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม กล่าวคือหนึ่งวันก่อนงานรำลึกครบรอบ ๑๐ ปี เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดียระหว่างวันที่ ๒๖-๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๗ ที่จังหวัดพังงา ประเทศไทย ซึ่งงานดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนัก รู้ถึงความสำคัญและความเชื่อมั่นต่อการบริหารจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ผลการหารือของการประชุมนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการประชุมระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ ณ เมืองเซนได และจะรายงานผลต่อที่ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๗ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ กรุงโตเกียว
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--