การให้สิทธิ GSP เป็นสิทธิพิเศษการลดอากรขาเข้าที่ EU เป็นผู้ให้ฝ่ายเดียวแก่ประเทศคู่ค้าต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2514 เพื่อส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาต่าง ๆ สามารถขายสินค้าให้ EU ได้และเป็นการช่วยยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา โดยฝ่าย EU เป็นผู้กำหนดเกณฑ์การให้สิทธิดังกล่าวตามความเหมาะสม การเสียสิทธิ GSP ของไทยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ใหม่ที่ฝ่าย EU กำหนด และ EU ได้เคยแจ้งให้ไทยและประเทศคู่ค้าอื่น ๆ ทราบหลักเกณฑ์ใหม่นี้ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2555 อีกทั้ง EU ได้ประกาศใช้กับประเทศคู่ค้าทุกประเทศในลักษณะไม่เลือกประติบัติ
หลักเกณฑ์ที่ EU พิจารณาให้ประเทศไทยเสียสิทธิ GSP ทั้งหมดในปี 2558 สืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารโลก (World Bank) ได้จัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (Upper-middle income country) ติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า 3 ปี ตั้งแต่ปี 2554 – 2556 โดยเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีระยะเวลาในการปรับตัวก่อนแล้วเป็นระยะเวลาหนึ่งปีในช่วงปี 2557 ทั้งนี้ ประเทศอื่น ๆ ที่เสียสิทธิ GSP ในครั้งนี้ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูงต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 3 ปีเช่นกัน
กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ประเมินว่าผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิ GSP อาจมีมูลค่าประมาณ3 หมื่นล้านบาท หรือเกือบร้อยละ 4 ของมูลค่าการส่งออกของไทยไป EU หรือ ร้อยละ 0.3 ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด อย่างไรก็ตาม มีสินค้าบางตัวที่ได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าอื่น ๆ เช่น กุ้ง ปลาหมึก เป็นต้น
อนึ่ง การที่ไทยถูกตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของ EU โดยไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย อีกทั้งไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับ EU และประเทศสมาชิก EU โดยความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน การศึกษา การท่องเที่ยว การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ ยังคงดำเนินต่อไปตามปกติ
ทั้งนี้ นับตั้งแต่ได้รับแจ้งจากฝ่าย EU ถึงหลักเกณฑ์ใหม่ข้างต้น กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมดำเนินการในการรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแจ้งเตือนให้ภาคเอกชนทราบและการนำคณะนักธุรกิจไทยเดินทางเยือนต่างประเทศเพื่อแสวงหาตลาดใหม่ทดแทนตลาด EU
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--