๑. การแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถควบคุมการค้างาช้างบ้านและปราบปรามการลักลอบค้างาช้างแอฟริกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
๑.๑ การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ (๖ มาตรา) เพื่อกำหนดให้ช้างแอฟริกาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยผู้ที่ครอบครองงาช้างแอฟริกาก่อนหน้านี้จะไม่สามารถขออนุญาตครอบครองต่อไปได้ เพราะกฎหมายกำหนดให้ตกเป็นของแผ่นดิน เว้นแต่มีหลักฐานการได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้ง
ห้ามการค้างาช้างป่าหรืองาช้างแอฟริกาโดยเด็ดขาด
๑.๒ การออก พ.ร.บ. งาช้าง พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อควบคุมการค้างาช้าง รวมถึง การนำเข้าส่งออก และการครอบครองงาช้างหรือผลิตภัณฑ์งาช้างบ้าน
๑.๓ การปรับปรุงกฎหมายรอง จำนวน ๑๗ ฉบับ อาทิ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย
การสัตว์พาหนะ เพื่อกำหนดรูปแบบใหม่ของตั๋วรูปพรรณช้างที่กำหนดข้อมูลประจำตัวช้าง เช่น หมายเลขไมโครชิพ ข้อมูล DNA เพื่อป้องกันการลักลอบนำช้างป่าและงาช้างผิดกฎหมายมาสวมทะเบียน
๒. การจัดทำระบบจดทะเบียนงาช้างในประเทศอย่างครบวงจร ประกอบด้วย
๒.๑ การปรับปรุงระบบทะเบียนข้อมูลผู้ค้างาช้างและรายการสินค้างาช้าง เพื่อรองรับการขออนุญาตค้างาช้างตามกฎหมายใหม่ ปัจจุบันมีร้านค้างาช้างจดทะเบียนรวม ๒๖๐ ราย
๒.๒ การจัดทำระบบทะเบียนข้อมูลการครอบครองงาช้างบ้านและงาช้างแอฟริกา เพื่อรองรับการแจ้งครอบครองงาช้างของประชาชนทั่วไป โดยจะเชื่อมโยงฐานข้อมูลการครอบครองงาช้างและการค้างาช้าง
๒.๓ การปรับปรุงระบบทะเบียนข้อมูลงาช้างของกลาง โดยเชื่อมโยงข้อมูลงาช้างของกลางที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานต่าง ๆ สู่ระบบฐานข้อมูลกลางของประเทศ เพื่อให้การจัดการและควบคุมดูแลงาช้างของกลางภายในประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น
๓. การปราบปรามจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยมีการจัดตั้งสายตรวจการค้างาช้างทั่วประเทศ
๒๒ สาย จัดตั้งชุดปฏิบัติการร่วม ๑๑ ชุด และเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบในพื้นที่เป้าหมายและพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะบริเวณชายแดน ท่าเรือ ท่าอากาศยาน และการขนส่งไปรษณีย์ การจัดทำเครื่องหมายประจำงาช้าง
ของกลาง โดยมีการจับกุมผู้กระทำผิดคดีรายใหญ่ได้ ๒ คดี งาช้างน้ำหนักรวม ๑๖๕.๗ กิโลกรัม
๔. การประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายหลักได้แก่ นักท่องเที่ยวต่างชาติ ผู้ค้างาช้างและเจ้าของช้าง และประชาชนทั่วไป ผ่านช่องทางประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ อาทิ
www.thailandtoday.in.th www.tourismthailand.org และ www.tatnew.org
๕. การจัดตั้งกลไกในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการ CITES ประจำประเทศไทย ๔ คณะ ในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ด้านการออกระเบียบและกฎหมาย ด้านการจัดทำระบบทะเบียนข้อมูล ด้านการบังคับใช้กฎหมาย และด้านการประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะต้องรายงานต่อคณะกรรมการ CITES ประจำประเทศไทย และนายกรัฐมนตรีเป็นระยะ ๆ
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--