การประชุมประจำปีของ WEF เป็นการประชุมระดับโลกที่รวมบุคคลชั้นนำจากหลากหลายวงการ อาทิ ผู้นำภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับสถานการณ์โลก ตลอดจนเสนอแนะทิศทางในการกำหนดนโยบายในระดับโลกและระดับภูมิภาค โดยตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ผู้นำและผู้แทนระดับสูงจากประเทศไทยเข้าร่วมและมีบทบาทในเวที WEF อย่างต่อเนื่อง และประเทศไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Economic Forum on East Asia เมื่อปี ๒๕๕๕ ที่กรุงเทพฯ ด้วย
หัวข้อหลักของการประชุม WEF ในครั้งนี้ คือ “The New Global Context: What will we do about it?” ซึ่งไทยเห็นว่าเป็นหัวข้อที่สอดรับกับสถานการณ์ของโลกในปัจุบันอย่างยิ่ง เนื่องจากทั่วทุกภูมิภาคของโลกล้วนกำลังเผชิญกับสิ่งท้าทายจากความไม่แน่นอน และความสลับซับซ้อนของปัญหาต่าง ๆ การเข้าร่วมประชุม WEF ของไทยในครั้งนี้ นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมเปลี่ยนความเห็นและมุมมองของไทยต่อปัญหาดังกล่าว รวมทั้งพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจ และการค้าการลงทุนของโลกแล้ว ยังเป็นโอกาสในการให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความคืบหน้าของการปฏิรูปประเทศไทยในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจไทย ตลอดจนการมีบทบาทที่แข็งขันและการมีส่วนร่วมที่สร้างสรรค์ของไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาคมโลกด้วย
รองนายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการหารือในประเด็นเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน พัฒนาการที่สำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจดิจิทัล อาทิ “The ASEAN Agenda”, “The End of Democracy?”, “Fundamental of the Internet Economy”, “Europe's Twin Challenges: Growth and Stability", "Asia Growth Market", "The Future of the Digital Economy” และการหารือกับ ASEAN Regional Business Council ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้าร่วมการหารือในประเด็นและหัวข้อที่เกี่ยวข้อง อาทิ Forum Debate “Geo-Economic Competition”, "The New Geo-Economics of Energy" และ “Achieving Impact through Agriculture Partnership”
นอกเหนือจากการเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดโดย WEF แล้ว รองนายกรัฐมนตรีได้พบหารือทวิภาคีกับบุคคลสำคัญทั้งภาคธุรกิจ และองค์การระหว่างประเทศ อาทิ นายโห้ว หลิน จ้าว เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) โดยได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับ ITU และแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตัลซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลไทย ศาสตราจารย์ Klaus Schwab ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหาร WEF รวมทั้งผู้แทนระดับสูงของภาคเอกชนต่างประเทศ อาทิ บริษัท Cisco ธนาคาร Standard Chartered และบริษัท VISA นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระดับโลกที่สำคัญ ได้แก่ BBC และ Reuters และสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ ด้วย
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--