อธิบดีกรมสารนิเทศได้เป็นผู้นำการอภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการดำเนินการทางการทูตเพื่อส่งเสริมความก้าวหน้าด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และการเชื่อมโยงประเด็นสาธารณสุขเพื่อประโยชน์ด้านการทูต ซึ่งปัจจุบันเป็นประเด็นที่ทวีความสำคัญอย่างต่อเนื่องในเวทีระหว่างประเทศ เนื่องจากความร่วมมือระหว่างประเทศนับเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข เช่น การป้องกันการระบาดของโรคติดต่อ การถ่ายทอดทางเทคโนโลยีการแพทย์ และการบริหารจัดระบบสาธารณสุข เป็นต้น
วิทยากรที่ร่วมการอภิปรายประกอบด้วยผู้แทนทั้งจากประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งได้นำเสนอยุทธศาสตร์ด้านการทูตเพื่อเสริมสร้างเป้าหมายด้านสาธารณสุข และประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยนายฮิโรยูกิ ยามายา (Mr. Hiroyuki Yamaya) ผู้อำนวยการ ฝ่ายสาธารณสุขระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้เสนอยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นที่เน้นการติดต่อกับประเทศต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการดูแลสุขภาพประชากรด้วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งญี่ปุ่นถือว่าเป็นหัวใจของการบรรลุการสร้างความมั่นคงของมนุษย์ ในขณะที่ พ.ญ. สิกรุน มูเกอดาล (Dr. Sigrun M?gedal) อดีตเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ด้านเอดส์และสาธารณสุขระหว่างประเทศ และอดีตผู้เชี่ยวชาญประจำกลุ่มประเทศ Foreign Policy and Global Health (FPGH - ประกอบด้วยสมาชิก คือ นอร์เวย์ ไทย บราซิล อินโดนีเซีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ และฝรั่งเศส) ได้กล่าวถึงความสำเร็จของ FPGH ในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการสาธารณสุขและการต่างประเทศ ทั้งในประเทศสมาชิกเอง และในกรอบระหว่างประเทศ รวมทั้งการผลักดันการยกระดับให้เรื่องสาธารณสุขเป็นวาระสำคัญในเวทีสหประชาชาติ อย่างไรก็ดี ก็ยังมีความจำเป็นต้องได้สนับสนุนจากระดับผู้นำ และความร่วมมืออย่างเต็มที่ของสมาชิก FPGH เพื่อผลักดันประเด็นสาธารณสุขต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ สำหรับนางมาธาริ มัทเซา (Ms. Mmathari Matsau) รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ ด้านความร่วมมือสาธารณสุขระหว่างประเทศ ได้นำเสนอบทบาทแอฟริกาใต้ และให้ข้อวิเคราะห์เกี่ยวกับข้อจำกัดของการทูตสาธารณสุข แนวทางที่การทูตสาธารณสุขสามารถสนับสนุนวาระเพื่อการพัฒนาภายหลัง ค.ศ. ๒๐๑๕ ได้ โดยเน้นให้ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการผลักดันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นส่วนหนึ่งของวาระระดับโลกดังกล่าว เพราะเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งเสริมการดูแลสุขภาพประชาชนในประเทศรายได้กลางและต่ำ เนื่องจากสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่จะช่วยรักษาสุขภาพประชาชน และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศด้วย
การอภิปรายนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี ๒๕๕๘ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๐ มกราคม ๒๕๕๘ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิร์ล กรุงเทพฯ ภายใต้หัวข้อหลัก“Global health Post 2015 – Accelerating Equity” ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปราย อธิบดีกรมสารนิเทศได้ร่วมกับวิทยากรจากนานาประเทศ นำเสนอประเด็นสำคัญจากการอภิปรายที่สมควรผลักดันในวาระเพื่อการพัฒนาภายหลัง ค.ศ. ๒๐๑๕ ที่จะทำให้การสาธารณสุขระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือส่งเสริมความเท่าเทียมกัน ตามหัวข้อหลักของการประชุม
การประชุมวิชาการ PMAC เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเฉลิมพระเกียรติยศและถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก องค์บิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขของไทย โดยเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทยและต่างประเทศ อาทิ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลก มูลนิธิ Rockefeller เป็นต้น
กระทรวงการต่างประเทศให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการทูตสาธารณสุขโดยได้แสดงบทบาทสร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก โดยเฉพาะในเวทีอาเซียนและสหประชาชาติ และกลุ่ม FPGH เพื่อพัฒนาระบบสาธารณสุขระหว่างประเทศที่มั่นคงปลอดภัยสำหรับประชาชนไทยและประชากรโลก
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--