ข้อคิดเห็นของ EJF มุ่งโจมตีไทยโดยที่ไม่คำนึงถึงพัฒนาการเชิงบวก ทั้งที่รัฐบาลไทยได้ลงมือปราบปราม ป้องกัน และให้ความช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์อย่างจริงจังและเห็นผลเป็นรูปธรรมมาโดยตลอด เช่น ในปี ๒๕๕๗ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินคดีต่อบริษัทนายหน้าที่ทำผิดกฎหมายแรงงานจำนวน ๑๕๖ แห่ง และจับบริษัทนายหน้าผิดกฎหมายได้อีก ๑๐๗ แห่ง สำหรับในอุตสาหกรรมประมง ในปี ๒๕๕๗ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ได้บูรณาการเชิงรุกกับกระทรวง ที่เกี่ยวข้องคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ทั้งหมดอย่างเป็นระบบโดยใช้ทีมสหวิชาชีพดำเนินการตรวจเรือประมงทั้งหมด ๖๙๖ ลำ และสำรวจแรงงานประมงมากกว่าหนึ่งหมื่นคน นอกจากนี้ และในปี ๒๕๕๘ กระทรวงแรงงานได้ร่วมกับกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดตั้งจุดตรวจสอบเรือประมง (“port-in / port-out”) จำนวน ๒๘ จุดใน ๒๒ จังหวัดที่มีเขตติดชายฝั่งทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อทำงานร่วมกับฐานข้อมูลการจดทะเบียนเรือประมงแล้ว จะสามารถช่วยตรวจสอบสภาพการใช้แรงงานในเรือประมงได้อย่างดียิ่งขึ้น
รัฐบาลไทยได้เพิ่มมาตรการที่ชัดเจนและเข้มงวดในการขจัดการทุจริตและการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งลงโทษเจ้าของเรือและนายหน้าตามกฎหมายอาญา นอกจากนี้ การคัดแยกและสัมภาษณ์เหยื่อการค้ามนุษย์อย่างเป็นระบบ ยังช่วยให้รัฐบาลสามารถสืบสวนและจับกุมผู้กระทำผิดได้เพิ่มเติม โดยมีกรณีตัวอย่างความสำเร็จคือ การจับเครือข่ายผู้ค้ามนุษย์ในจังหวัดตรัง (“กรณีกันตัง”) ซึ่งสำรวจพบตั้งแต่ปี ๒๕๕๖ และได้ลงโทษผู้คุมนายหน้า (foreman) ไปแล้ว และในปี ๒๕๕๗ ยังสามารถจับกุมกัปตันเรือและเจ้าของเรือได้เพิ่มเติม
นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำในหลายโอกาสว่า รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระเร่งด่วนระดับชาติ และได้จัดสรรงบประมาณและบุคคลากรเพื่อปฏิรูปการดำเนินการต่อต้านปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลเน้นความสำคัญกับการทำงานอย่างบูรณาการและพบปะกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง อาทิรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์และกฎหมายพบกับภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาสังคมเพื่อรับฟังปัญหาและนำมาพิจารณาดำเนินการร่วมกับแผนงานของภาครัฐในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--