นาย Minoru Kiuchi รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น กล่าวเปิดประชุมเน้นความสำคัญของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือกว่า ๖ แสนล้านเยน (ประมาณ ๒ แสนล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาลุ่มน้ำโขงภายใต้ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. ๒๐๑๒ นับตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ในการนี้ นาย Sar Kheng รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกัมพูชา ในฐานะผู้แทนประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง กล่าวว่า ประเทศลุ่มน้ำโขงต้องการส่งเสริมโอกาสการลงทุนในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐ – เอกชน (Public – Private Partnership – PPP) กับญี่ปุ่น โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ไฟฟ้า โทรคมนาคม ตลอดจนการพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอันเป็นอาชีพหลักของผู้คนในลุ่มน้ำโขง
การประชุมในปีนี้ มีการอภิปรายใน ๓ หัวข้อหลัก ได้แก่ ๑. การส่งเสริมสภาพแวดล้อมการลงทุน ซึ่งในส่วนของไทย ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้กล่าวถึงข้อได้เปรียบเรื่องอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งไทยมีอัตราต่ำเป็นอันดับที่สองในอาเซียน นอกจากนี้ ไทยยังมีนโยบายให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากนโยบายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ของ BOI และนโยบายการสนับสนุนการจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการส่วนภูมิภาค (Regional Operating Headquarters - ROH)
๒. โครงสร้างพื้นฐาน โดยอธิบดีกรมเศรษฐกิจฯ ได้บรรยายสรุปยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (๒๕๕๘ – ๒๕๖๕) และนโยบายการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน ซึ่งฝ่ายไทยยินดีที่ญี่ปุ่นจะร่วมมือในการพัฒนาโครงการทวายและการคมนาคมขนส่งระบบรางของไทย ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นพ้องว่า ความร่วมมือภาครัฐ – ภาคเอกชน (Public – Private Partnership – PPP) เป็นรูปแบบการลงทุนที่มีความสำคัญ และรัฐควรหาทางลดอุปสรรคด้านต่าง ๆ อาทิ ความโปร่งใสและการอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบ การพัฒนาทักษะแรงงาน เป็นต้น
๓. การเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร โดยที่ประชุมให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรแนวใหม่เพื่อเพิ่มผลิตผลทางการเกษตร และใช้เทคโนโลยีแปรรูปอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า
การประชุม Forum for the Promotion of Public – Private Cooperation in the Mekong Region จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือภาครัฐ – ภาคเอกชน ภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – ญี่ปุ่น มีผู้แทนภาครัฐ นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มประเทศ CLMV ไทยและญี่ปุ่น เข้าร่วม ทั้งนี้ ผลการประชุมฯ จะถูกนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง – ญี่ปุ่นครั้งต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ กรุงโตเกียว
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--