นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 (The Third United Nations World Conference on Disaster Risk Reduction - 3WCDRR)

ข่าวต่างประเทศ Thursday March 12, 2015 11:28 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2558 เวลา 15.00 น. ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม 2558 ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น โดยมีผู้บริหารระดับสูงของไทย ประกอบด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ศาสตราจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมคณะด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบทบาทของไทยในการประชุมฯ ครั้งนี้ว่า นายกรัฐมนตรีจะยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมืองของไทยต่อประชาคมระหว่างประเทศ ในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยนายกรัฐมนตรีได้รับเชิญให้กล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทย แสดงวิสัยทัศน์ของไทยเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่ให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างความตระหนักรู้ของประชาชน การลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยง ระบบเตือนภัยล่วงหน้า ตลอดจนการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ชุมชนรับมือกับภัยพิบัติ ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของนโยบายและกรอบการทำงานของรัฐบาลในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ คือ การดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ภาครัฐ เอกชน สตรี เยาวชนและสื่อมวลชน เข้ามามีส่วนร่วมเพราะการลดความเสี่ยงจากเหตุภัยพิบัติเป็นภาระหน้าที่ของเราทุกคน

ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังจะได้ปฏิบัติภารกิจระหว่างการเข้าร่วมการประชุม โดยจะพบหารือทวิภาคีกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ รวมทั้งการเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันสำหรับผู้นำ โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพด้วย การประชุม ฯ ครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 6,000 - 8,000 คน จากทุกภาคส่วน ทั้งผู้นำระดับประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลมากกว่า 20 ประเทศ อาทิ สมเด็จพระจักรพรรดิ เจ้าผู้ครองนครรัฐคูเวต สมเด็จพระราชาธิบดีสวาซิแลนด์ ประธานาธิบดี แกมเบีย เคนยา นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ไทย กัมพูชาและเซอร์เปีย เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้แทนระดับสูงของไทยยังจะเข้าร่วมเวทีคู่ขนานอื่นๆ ด้วย เช่น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะร่วมอภิปรายในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี ในหัวข้อ “Reconstructing after Disasters : Build Back Better” เพื่อเผยแพร่บทบาท ประสบการณ์และความสำเร็จของไทยในการฟื้นฟูบูรณะภายหลังภัยพิบัติตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตราจารย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับเชิญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นผู้ร่วมบรรยายใน “Working Session : Reducing Risk of Epidemics & Pandemics รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จะจัดกิจกรรมเปิดตัวหนังสือที่ระลึกงานครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิ ด้วย

อนึ่ง การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมระดับผู้นำในกรอบสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นร่วมกับสหประชาชาติเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม 2558 ณ เมืองเซนได โดยที่ประชุมจะประกาศรับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมที่สำคัญ 2 ฉบับ คือ กรอบการดำเนินงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ หลังปี 2558 (Post-2015 Framework for Disaster Risk Reduction) ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานของโลกระยะเวลา 15 ปี ข้างหน้า (พ.ศ. 2558-2573) มีเป้าหมายในการสร้างการป้องกันและลดความเสี่ยงภัยพิบัติผ่านภาคเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อลดความสูญเสียจากภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยมีพันธกิจที่จะต้องนำกรอบการดำเนินงาน มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบททางกฎหมาย สังคมและวัฒนธรรมของประเทศ และปฏิญญาเซนได (Sendai Declaration) ซึ่งเป็นคำประกาศแสดงเจตจำนงทางการเมืองของประเทศสมาชิกที่จะร่วมให้การสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติหลังปี 2558

ที่ผ่านมา ไทยก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน เมื่อวันที่ 25-26 มิถุนายนที่ผ่านมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการรับรองปฎิญญากรุงเทพฯ โดยประเทศไทยได้ผลักดันเรื่องการเสริมสร้างความต้านทานต่อภัยพิบัติของชุมชน ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะบทบาทของภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติด้วย

ที่มา: ทำเนียบรัฐบาล http://www.thaigov.go.th/th/2012-07-18-11-42-15/item/90527-id90527.html

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ