ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านการค้ามนุษย์จากประเทศสมาชิกกระบวนการบาหลี ตลอดจนวิทยากรและผู้อภิปรายจากองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ภาคเอกชน ภาควิชาการ และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องภายใต้กรอบแนวคิดของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบของการค้ามนุษย์ด้านแรงงานในประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ ตลอดจนแสวงหาแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ที่ผ่านมา กระบวนการบาหลีมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมความร่วมมือในสาขาการลักลอบขนคนและการค้ามนุษย์ ผ่านการพัฒนายุทธศาสตร์และความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบัน สมาชิกกระบวนการบาหลีครอบคลุม ๔๕ ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และองค์การระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees – UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office of Drugs and Crime – UNODC) เพื่อร่วมมือกันต่อต้านภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ ๆ
อนึ่ง ไทยได้ระบุให้การต่อต้านและการป้องกันการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบรวมทั้งการค้ามนุษย์ด้านแรงงานเป็นหนึ่งในวาระแห่งชาติ ซึ่งการประชุมเชิงวิชาการในครั้งนี้จะช่วยแสวงหาแนวทางในการปราบปราม คุ้มครอง และป้องกันการค้ามนุษย์ ตลอดจนการกำจัดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่นำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบด้านแรงงาน
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--