การหารือโต๊ะกลมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้แทนรัฐบาลต่างๆ พร้อมด้วยภาควิชาการและประชาสังคมที่มีบทบาทในเรื่องนี้ ได้ร่วมหารือและระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับการผลักดันและส่งเสริมข้อริเริ่มว่าด้วยผลกระทบด้านมนุษยธรรมของอาวุธนิวเคลียร์ (The Humanitarian Initiative) การแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ และการลดช่องโหว่ทางกฎหมาย (closing the legal gap) ในการห้ามอาวุธนิวเคลียร์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อความพยายามขจัดอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ การหารือครั้งนี้ต่อยอดแนวคิดมาจากการหารือระดับภูมิภาคในครั้งก่อนๆ ที่จัดขึ้น ณ เมือง Yogyakarta ประเทศอินโดนีเซีย และเมือง Tagaytay ประเทศฟิลิปปินส์ รวมทั้งการประชุมระดับระหว่างประเทศที่ประเทศนอร์เวย์ ประเทศเม็กซิโก และประเทศออสเตรีย เคยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น นอกจากนี้ การหารือโต๊ะกลมฯ ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีภาครัฐบาลร่วมเป็นเจ้าภาพด้วย
การหารือครั้งนี้ยังเป็นโอกาสที่ประเทศที่เข้าร่วมได้พิจารณาประเด็นปัญหา ท่าทีและแนวทางต่างๆ ก่อนการประชุมทบทวนสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Non-Proliferation Treaty: NPT) ปี ค.ศ. 2015 ระหว่างวันที่ 27 เม.ย. – 22 พ.ค. 58 ที่นครนิวยอร์ก และเพื่อร่วมกันพิจารณาดำเนินการต่อไปในระยะยาว ซึ่งบรรยากาศการหารือเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เปิดกว้างรับฟังความเห็น และเป็นกันเอง ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตเกรียงศักดิ์ กิตติชัยเสรี ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย และกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติ (International Law Commission) ร่วมเป็นผู้นำเสนอข้อมูลและนำการอภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับช่องโหว่ของกฎหมายด้วย
ผลกระทบด้านมนุษยธรรมของอาวุธนิวเคลียร์ เป็นประเด็นระหว่างประเทศที่ได้รับการสนับสนุนและให้ความสำคัญจากประชาคมระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับความริเริ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การส่งเสริมการจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear-Weapon-Free-Zones: NWFZ) ในภูมิภาคต่างๆ รวมถึงสนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANWFZ) ซึ่งลงนามที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2538 โดยไทยเป็นประเทศผู้เก็บรักษาสนธิสัญญาดังกล่าว
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับประเด็นว่าด้วยการลดและไม่แพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of Mass Destruction: WMD) มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และสอดคล้องกับการรณรงค์การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ของไทย วาระปี 2560 - 2561 อีกด้วย
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--