เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๘ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายจากพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้เป็นผู้แถลงผลงานกลุ่มภารกิจด้านการต่างประเทศของรัฐบาล ในรอบ ๖ เดือน หลังจากที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงผลงานรัฐบาลในภาพรวม ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
รัฐบาลได้ดำเนินการด้านการต่างประเทศ ตามนโยบายข้อ ๒.๔ ที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๘ ซึ่งเป็นการต่างประเทศที่ครอบคลุมแนวทางรอบด้าน ที่จะนำไปสู่ “ความมั่นคงของชาติ และความมั่งคั่งของประชาชน”โดยมีสาระสำคัญหลักๆ ๕ มิติ
๑. การเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับนานาประเทศ โดยการเยือนต่างประเทศของผู้แทนรัฐบาลระดับสูง ทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี และการพบหารือกับผู้แทนและคณะทูตต่างประเทศที่ขอเข้าเยี่ยมคารวะผู้แทนระดับสูงของไทย โดยประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์การเมืองไทย และต่อท่าทีไทยและบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศต่างๆ ได้ลดระดับการเตือนการเดินทางมาประเทศไทยและไม่มีการห้ามเดินทางเข้าประเทศไทย อีกทั้งได้มีการเยือนไทยของบุคคลระดับสูงจากหลายประเทศ ตลอดจนการยอมรับบทบาทไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างประเทศที่สำคัญต่างๆ
๒. การต่างประเทศเป็นส่วนประกอบสำคัญของนโยบายองค์รวมทั้งหมดในการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยกระทรวงการต่างประเทศสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ อาทิ โครงการร่วมมือด้านรถไฟกับจีนและญี่ปุ่น โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในบริเวณชายแดน และการผลักดันความร่วมมือในแก้ไขปัญหาผ่านกรอบอาเซียน อาทิ อาชญากรรมข้ามชาติ ปัญหาหมอกควัน การรับมือต่อภัยพิบัติ
๓. การนำกลไกทางการทูตเชิงบูรณาการมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยส่งเสริมการทำงานในมิติต่างประเทศอย่างเป็นเนื้อเดียวกันของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม อาทิ การดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และประมงผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้ต่างประเทศมีความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อการดำเนินการของรัฐบาล และการดำเนินการอย่างเป็นเอกภาพในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผ่านกลไกคณะกรรมการศูนย์เตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
๔. การดำเนินนโยบายต่างประเทศที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อส่งเสริมการกินดีอยู่ดีและอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน โดยการดูแลคนไทยในต่างแดน การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนในระดับประชาชน การพัฒนางานบริการประชาชน อาทิ การเปิดบริการหนังสือเดินทางด่วนพิเศษ และการเปิดบริการทำหนังสือเดินทางในวันเสาร์ระหว่างเดือนธันวาคม ๒๕๕๗ – เมษายน ๒๕๕๘ โดยมีผลงานสำคัญด้านการคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ อาทิ การช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยจากโจรสลัดโซมาเลีย การช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างในอินโดนีเซียกว่า ๒๐๐ คน การอพยพคนไทยออกจากลิเบียและเยเมน ซึ่งอยู่ในภาวะสงครามกว่า ๑,๑๐๐ คน
๕. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างความมั่นคงของชาติและความมั่งคั่งของประชาชนอย่างยั่งยืน อาทิ การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การพัฒนาโลกทัศน์ผ่านโครงการบัวแก้วสัญจร วิทยุสราญรมย์สัญจร และกงสุลสัญจร การเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่กลุ่มเยาวชนไทยในต่างประเทศ การพัฒนาเยาวชนผ่านโครงการมูลนิธิยุวทูตความดีซึ่งมุ่งเน้น “การปลูกจิตสำนึก ฝึกจิตอาสา พัฒนาโลกทัศน์” ตลอดจนโครงการปณิธานความดี ปีมหามงคล เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสปีมหามงคลของสถาบันพระมหากษัตริย์ ปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๐
๑. การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยมีกิจกรรมสำคัญ อาทิ
การส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทย "ปีท่องเที่ยววิถีไทย" และ "๒๐๑๕ Discover THAINESS" ผ่านช่องทางต่างๆ
๒. การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสำคัญ
๓. การอำนวยความสะดวกและบริการนักท่องเที่ยว ด้วยการพัฒนาระบบอย่างครบวงจร และเน้นประชาสัมพันธ์ในทุกรูปแบบให้นักท่องเที่ยวเกิดความอุ่นใจในการเดินทางมายังประเทศไทย
๔. การปราบปรามอาชญากรรมต่อนักท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
๕. การช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในความเสียหายที่มิได้เกิดจากนักท่องเที่ยวเอง
๖. การส่งเสริมความร่วมมือด้านท่องเที่ยวกับต่างประเทศ
๗. การร่วมมือกับบริษัท Google ประเทศไทย เปิดมุมมองใหม่ให้นักท่องเที่ยวผ่านกูเกิลสตรีทวิว ในแหล่งท่องเที่ยว ๑๐ แห่ง และอุทยานแห่งชาติ ๑๔ แห่ง
ผลการดำเนินงานทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๘ จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยระหว่างเดือน ม.ค. – เม.ย. ๒๕๕๘ มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งสิ้น ๑๕,๓๓๖,๙๖๑ คน คนไทยเดินทางภายในประเทศประมาณ ๘๒ ล้านครั้ง
๑. การส่งเสริมและพัฒนาเส้นทางจักรยานทั่วประเทศ ๓ รูปแบบ ในพื้นที่เขตเมืองหรือชุมชน ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว และในพื้นที่ไหล่ถนน
๒. การคืนสุขภาพและความภูมิใจให้กับประชาชน อาทิ การเข้าร่วมการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ ๑๗ โดยไทยได้อันดับที่ ๖ และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา Asian Beach Games ครั้งที่ ๔ โดยไทยได้อันดับที่ ๑
๓. โครงการธนาคารกีฬาเพื่อเยาวชนและประชาชน โดยได้จัดซื้ออุปกรณ์กีฬาและอุปกรณ์วัดสมรรถภาพร่างกายให้แก่ศูนย์เรียนรู้กีฬา ๙๕๔ แห่ง ในทุกอำเภอทั่วประเทศ และโรงเรียน ตชด. ๑๙๗ แห่ง
๔. การฟื้นฟู อนุรักษ์ และเผยแพร่การละเล่นพื้นบ้านและกีฬาไทย โดยการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมการละเล่นพื้นบ้านและกีฬาไทย ในวิทยาเขตการศึกษาในประเทศในหลายจังหวัด
๑. การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการจัดงานพระราชพิธี และงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการจัดกิจกรรมเผยแพร่พระราชกรณียกิจและเฉลิมพระเกียรติในโอกาสต่างๆ
๒. การใช้มิติทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับนานาชาติ เสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศ และนำความเป็นไทยสู่สากล โดยการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมสำหรับทูตานุทูตและผู้แทนระดับสูงของต่างประเทศ
๓. การเสริมสร้างค่านิยมหลัก ๑๒ ประการ และค่านิยมความเป็นไทย เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชน ตลอดทั้งสร้างเครือข่ายในการส่งเสริมคุณธรรมร่วมกับทุกภาคส่วน
๔. การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม โดยการจัดแสดงทางวัฒนธรรม การบูรณะโบราณสถาน การขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ การคุ้มครองมรดกทางศิลปวัฒนธรรม การจัดนิทรรศการและงานเสวนาทางวัฒนธรรม การจัดกิจกรรมวัฒนธรรมสำหรับผู้พิการ และการเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
๕. การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยใช้มิติทางวัฒนธรรม โดยการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความเข้าใจในความหลากหลายของวัฒนธรรมในพื้นที่ และกิจกรรมพัฒนาศักยภาพชุมชนจากภูมิปัญญาท้องถิ่น
๖. การจัดกิจกรรมคืนความสุขในจังหวัดต่างๆ ในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ๒๕๕๗ จำนวน ๑๙ ครั้ง และการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นของขวัญให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ จำนวน ๙ กิจกรรม
๗. การดำเนินงานตามนโยบายมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยสร้างความมั่นคงทางภูมิปัญญา มั่นคั่งทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนฐานวัฒนธรรม โดยการจัดกิจกรรมตลาดนัดศิลปะและถนนสายวัฒนธรรมในจังหวัดต่างๆ และการคัดเลือกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมจากภูมิปัญญาแต่ละจังหวัด (C-POT)
การดำเนินการในภาพรวมของกลุ่มภารกิจมีความคืบหน้าไปมาก โดยด้านการต่างประเทศ ได้ทำให้ต่างประเทศมีความเข้าใจ เชื่อมั่น และมั่นใจมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้มีการเสริมสร้างความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ด้านการท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ ด้านการกีฬา มีการวางรากฐานไปสู่การพัฒนาการกีฬาในทุกระดับ ด้านวัฒนธรรม ได้ทำให้ประชาชนได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมไทย และชาวต่างชาติมีความชื่นชมในศิลปวัฒนธรรมไทย รวมทั้งได้มีส่วนส่งเสริมความสัมพันธ์กับต่างประเทศและส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยการดำเนินการทั้ง ๔ ด้าน มีการบูรณาการประสานสอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน จนประสบผลสำเร็จบรรลุเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--