โดย ศจ. Dominique Rousseau แห่งมหาวิทยาลัย Paris I Panth?on-Sorbonne
สถาบันพระปกเกล้าจัดให้มีการบรรยายพิเศษเรื่อง “ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญในต่างประเทศ” (The Role of Constitutions in Resolving Political Crisis) ที่วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศส ๒ คน และจากเยอรมนี ๑ คน โดย ศจ. Dominique Rousseau แห่งมหาวิทยาลัย Paris I Panth?on-Sorbonne เป็นผู้บรรยายคนแรกเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๘
วัตถุประสงค์ของการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาบรรยาย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองอันเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญและปฏิรูปประเทศ สืบเนื่องจากประเทศไทยอยู่ระหว่างกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งหลายฝ่ายมีความคิดและข้อเสนอที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งนี้ ผู้ที่เข้ารับฟังการบรรยายคือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ศาล นักวิชาการ ผู้แทนหน่วยราชการต่างๆ และสื่อมวลชน รวม ๑๘๐ คน
ศจ. Rousseau เป็นนักวิชาการที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ก่อตั้ง และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและค้นคว้าเปรียบเทียบด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญและรัฐศาสตร์และเป็นประธาน
สภาที่ปรึกษาด้านวิชาการของสมาคมนักกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งฝรั่งเศส โดยเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทในการยกร่างรัฐธรรมนูญของประเทศตูนีเซีย
ศจ. Rousseau ได้กล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของรัฐธรรมนูญได้ ๓ ประการ คือ ๑) บทบาทของรัฐธรรมนูญในฐานะเป็นปัจจัยหรือบ่อเกิดของวิกฤต การร่างรัฐธรรมนูญที่มีข้อบทที่ไม่สามารถก่อให้เกิดความสมดุลของอำนาจ นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ต้องพิจารณาในการร่างรัฐธรรมนูญคือ วิธีการเลือกตั้งควรเป็นแบบใด (สัดส่วน/เลือกตั้งหนึ่งรอบ/เลือกตั้งสองรอบ/ผสม) ซึ่งวิธีการเลือกตั้งแต่ละแบบก็จะนำไปสู่ ผลที่แตกต่างกัน หรือการเปิดโอกาสให้มีการออกเสียงประชามติซึ่งอาจเป็นช่องทางที่ใช้เป็นทางออกสำหรับประเทศได้เช่นกัน ๒) บทบาทของรัฐธรรมนูญในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการแก้ไขหรือนำพาประเทศออกจากวิกฤต ซึ่งมีประเด็นหลักที่จะต้องพิจารณาภายหลังเกิดวิกฤตว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นควรใช้เวลาเท่าใดและองค์กรผู้ยกร่างควรมีลักษณะอย่างไร ปัจจัยด้านเวลาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของวิกฤตเป็นสำคัญ และอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาคือการกำหนดว่าเมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว จะมีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือจะให้ใครเป็นผู้ให้ความเห็นชอบซึ่งย่อมมีอิทธิพลต่อเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่จะยกร่าง ๓) บทบาทของรัฐธรรมนูญในฐานะเป็นเครื่องมือในการ บริหารจัดการวิกฤตในอนาคต ยกตัวอย่างประสบการณ์ของฝรั่งเศสเกี่ยวกับวิกฤตที่เกิดขึ้นภายหลังการใช้บังคับรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ ว่าเมื่อมีวิกฤตเกิดขึ้น เครื่องมือต่าง ๆ ที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ ได้ถูกนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น การนำมาตรา ๑๖ เกี่ยวกับการใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดีกรณีที่เกิดภาวะชะงักงันขององค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐและมีการคุกคามต่อบูรณภาพสาธารณรัฐในกรณีวิกฤตอัลจีเรีย การขอให้มีการลงประชามติตามมาตรา ๑๑ หรือ ๘๙ ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส การใช้อำนาจการยุบสภาของประธานาธิบดี เป็นต้น
การร่างรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญ ผู้ยกร่างต้องพิจารณานำประสบการณ์และประวัติศาสตร์ในอดีตมาใช้ในการยกร่างรัฐธรรมนูญที่สมดุล ยืดหยุ่น และสามารถปรับตัวเข้ากับสภาะแวดล้อมทางการเมืองได้ไม่ว่าขั้วอำนาจใดจะเป็นรัฐบาล รวมทั้งมีเครื่องมือที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขวิกฤตต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ เห็นว่ารัฐธรรมนูญควรมีความเรียบง่ายและที่สำคัญที่สุดคือเอื้ออำนวยให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--