การประชุม Political Dialogue ไทย - โปรตุเกส ครั้งที่ ๑

ข่าวต่างประเทศ Tuesday July 28, 2015 15:24 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๘ นางรัตติกุล จันทร์สุริยา อธิบดีกรมยุโรป ให้การต้อนรับนายฟรานซิสโก ดูอาร์ต โลเปซ (Francisco Duarte Lopes) อธิบดีด้านนโยบายต่างประเทศกระทรวงการต่างประเทศโปรตุเกส เพื่อร่วมประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย – โปรตุเกส ครั้งที่ ๑ (1st Thai – Portuguese Political Dialogue) ซึ่งฝ่ายไทยเป็นเจ้าภาพ ณ กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทยเข้าร่วมการหารือด้วย

การประชุมครั้งนี้เป็นกลไกที่จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกสที่ดำเนินมาอย่างราบรื่นตลอดระยะเวลากว่า ๕๐๐ ปี ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นและขยายความร่วมมือในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่มีบริษัทขนาดใหญ่ของไทยไปลงทุนในโปรตุเกส อาทิ บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) ซึ่งลงทุนในอุตสาหกรรมปลากระป๋อง และกลุ่มบริษัท Minor ที่ดำเนินกิจการโรงแรมในโปรตุเกส นอกจากนี้ การเปิดสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ของโปรตุเกสที่จังหวัดเชียงใหม่จะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น สำหรับความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาของไทยและโปรตุเกส สองฝ่ายได้มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษา นักวิชาการ การทำวิจัยระหว่างกัน ตลอดจนการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สองฝ่ายเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ให้มากขึ้นในทุกมิติ และให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงทั้งจากภาครัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อรักษาพลวัตความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยเชิญชวนให้ฝ่ายโปรตุเกสมาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยอาศัยความได้เปรียบของไทยที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเชียงใต้ ขณะที่ฝ่ายโปรตุเกสยินดีที่จะสนับสนุนไทยในการเข้าไปทำการค้าการลงทุนในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งเป็นฐานการค้าการลงทุนที่สำคัญของโปรตุเกส โดยโปรตุเกสมีสำนักงานการค้าการลงทุนในภูมิภาคแอฟริกา หรือ AICEP ซึ่งพร้อมจะร่วมมือและสนับสนุนไทย

นอกจากนี้ ไทยได้เสนอให้โปรตุเกสร่วมมือกับไทยในโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาในภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้จัดหลักสูตรฝึกอบรม และส่งเจ้าหน้าที่เพื่อสนับสนุนโครงการด้านพัฒนาในพื้นที่ ในเรื่องที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อม อาทิ การเกษตร การประมง และสาธารณสุข ซึ่งฝ่ายโปรตุเกสยินดีและสนใจที่จะร่วมมือกับไทยโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข

นอกจากความสัมพันธ์ทวิภาคีแล้ว ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับภูมิภาค โดยฝ่ายโปรตุเกสให้ความสนใจเรื่องการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปี ๒๕๕๘ และสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ในขณะที่ฝ่ายไทยได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการของสหภาพยุโรป สถานการณ์ในยูเครน ประเด็นอิหร่าน ทั้งนี้ สองฝ่ายได้หารือเรื่องการแลกเสียงสนับสนุนระหว่างกันสำหรับตำแหน่งต่าง ๆ ในองค์การระหว่างประเทศ เช่น UNSC UNESCO IMO HRC และ ITLOS เป็นต้น

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ