นายสุวัฒน์ จิราพันธุ์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวปาฐกถานำ โดยชี้ให้เห็นว่า การบูรณาการภายใต้ประชาคมอาเซียนและการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค อาจส่งผลให้ปัญหาอาชญากรรมและภัยคุกคามข้ามแดน เช่น ยาเสพติด การค้ามนุษย์ การค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงจำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามแดนของประชาชน กับการสร้างความปลอดภัยผ่านการบริหารจัดการชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มอาชญากรฉกฉวยประโยชน์จากความเชื่อมโยงในภูมิภาคดังกล่าว ทั้งนี้ ในฐานะที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของภูมิภาคและมีชายแดนติดต่อกับประเทศสมาชิกอาเซียน ๔ ประเทศ มีจุดผ่านแดนทั้งที่เป็นจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่านแดนชั่วคราวรวมกันกว่า ๙๐ จุด รัฐบาลไทยจึงให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกกับการบริหารจัดการชายแดน เพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปลายปี ๒๕๕๘
นาย Jeremy Douglas ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก้าวสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยประชาคมอาเซียนซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ ๖๓๐ ล้านคน จะเป็นหนึ่งในกลุ่มการค้าและเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เส้นทางรถไฟ และท่าเรือ เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจนำมาซึ่งภัยคุกคามด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ คาดว่า รายได้ของกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติจะสูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนหลายประเทศ โดยอาจสูงถึง ๑ แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จึงมีความจำเป็นต้องเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรในภูมิภาค โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ประจำด่านชายแดน เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาท้าทายดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การประชุมระดับภูมิภาคครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศกับ UNODC โดยมีผู้แทนระดับสูงของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งรับผิดชอบงานด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยงของภูมิภาค ความมั่นคง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจเข้าร่วม นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของไทย ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากจังหวัดชายแดน 26 จังหวัด เข้าร่วมด้วย และมีวิทยากรจากทั้งภายในภูมิภาค ประเทศคู่เจรจาและภาคีภายนอก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ในการเป็นเวทีหารือถึงแนวทางการเสริมสร้างความมั่นคงชายแดน เพื่อรองรับผลกระทบของการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงทางกายภาพ ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะจากการประชุมดังกล่าวจะนำเสนอต่อกลไกที่เกี่ยวข้องของอาเซียนเพื่อพิจารณาต่อไป
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--