นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๗ และการประชุมสุดยอดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 19, 2015 15:46 —กระทรวงการต่างประเทศ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๒๗ และการประชุมสุดยอดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ในวันที่ ๒๑ – ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ โดยการประชุมนี้เป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งสุดท้ายภายใต้การเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซีย ก่อนส่งมอบการเป็นประธานให้แก่สาธารณรัฐประชาธิบไตยประชาชนลาวในวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๙

การประชุมครั้งนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษเนื่องจากอาเซียนจะประกาศการจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๘ รวมถึงประกาศวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕ และแผนงานประชาคมอาเซียนทั้งสามเสา ระยะ ๑๐ ปี (๒๕๕๙ – ๒๕๖๘ ) ได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เพื่อกำหนดทิศทางของประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีกฎ กติกา และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

การประชุมฯ ประกอบด้วย ๑๑ การประชุม ได้แก่ การประชุมสุดยอดอาเซียนที่มีเฉพาะผู้นำอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ และการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนกับคู่เจรจาที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สหรัฐฯ สาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งกับองค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังมีการประชุมในกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) การประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนบวกสาม (จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี) การประชุมเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ ๔๐ ปี อาเซียน – นิวซีแลนด์ และการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียนบวกสามกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเชียตะวันออก

ในการประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมประกาศการจัดตั้งประชาคมอาเซียนแล้ว และจะแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการเสริมสร้างให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีความเข้มแข็งและยั่งยืน เป็นประชาคมที่ประชาชนทุกคนก้าวหน้า ไปด้วยกันและทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์ รวมทั้งประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่มีความสนใจและความห่วงกังวลร่วมกัน อีกทั้งแสวงหาความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวและการเชื่อมโยงในภูมิภาค เช่น ปัญหาหมอกควันข้ามแดน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์กับภาคีภายนอก โดยเฉพาะการพิจารณายกระดับความสัมพันธ์ประเทศคู่เจรจา ๒ ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์และสหรัฐฯ ให้เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน

นอกจากนี้ ผู้นำอาเซียนจะลงนามเอกสารสำคัญ ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ค.ศ. ๒๐๑๕ (๒) ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน ค.ศ. ๒๐๒๕: มุ่งหน้าไปด้วยกัน และ (๓) อนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการค้ามนุษย์โดยเฉพาะสตรีและเด็ก รวมทั้งรับรองเอกสารอีก ๒๐ ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารที่แสดงเจตนารมณ์ในการส่งเสริมความร่วมมือทั้งภายในอาเซียนและระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ