ในการประชุมครั้งนี้ ผู้ที่รัฐบาลไทยจะเชิญเข้าร่วมการหารือได้แก่ (๑) เจ้าหน้าที่อาวุโสจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ๕ ประเทศ คือ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา และไทย (๒) ประเทศสมาชิกอาเซียนและกระบวนการบาหลี (๓) ประเทศพันธมิตรนอกภูมิภาค อาทิ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ และ(๔) องค์การระหว่างประเทศที่สนใจและมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด อาทิ สหภาพยุโรป สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในการนำไปสู่สนับสนุนการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม เช่น การจัดตั้งกลไกความร่วมมืออย่างไม่เป็นทางการเพื่อผลักดันความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายและการปราบปรามเครือข่ายลักลอบขนคนและค้ามนุษย์ การดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักถึงความเสี่ยงของการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ให้ความรู้เกี่ยวกับช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย และป้องปรามขบวนการลักลอบขนคนและค้ามนุษย์ ตลอดจนการส่งเสริมการพัฒนาในพื้นที่เสี่ยงที่ต้นทางเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--