การพัฒนาทางเลือก ครั้งที่ ๒ (International Conference on Alternative Development – ICAD2) ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย
พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม เมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ อุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และทรงศึกษาดูงาน ทอดพระเนตรโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน ในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่บ้านปางมะหัน โครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย และโครงการหลวงหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ หลังจากนั้น ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับสูง เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ทรงเข้าร่วมการอภิปรายในหัวข้อ “หลักนิติธรรมและประเด็นด้านความมั่นคงในบริบทของนโยบายควบคุมยาเสพติดที่ใช้การพัฒนานำ” และยังทรงร่วมการอภิปรายในกิจกรรมคู่ขนาน ในหัวข้อ “หลักนิติธรรมและการพัฒนาทางเลือก: การส่งเสริมหลักนิติธรรมเพื่อบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนในการลดการปลูกพืชเสพติด” จัดโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย และ UNODC โดยมีผู้เข้าร่วมการศึกษาดูงานรวม ๑๐๙ คน
จาก ๒๘ ประเทศ ๑๑ องค์กร และผู้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง ๒๔๒ คน จาก ๔๔ ประเทศ ๑๘ องค์กร
การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ของไทยในการใช้แนวทางการพัฒนาทางเลือกตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสร้างความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนให้แก่เกษตรกร และไม่ให้หันกลับมาปลูกพืชเสพติดอีก รวมทั้งส่งเสริมให้นานาประเทศนำแนวปฏิบัติสหประชาชาติ (UNGPs on AD) ไปปฏิบัติ และบูรณาการแนวทางการพัฒนาทางเลือกในแผนยุทธศาสตร์พัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
ที่ประชุม ICAD2 ย้ำถึงความสำคัญของแนวทางการพัฒนาทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ควรยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง คำนึงถึงความต้องการที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ มีความเชื่อมโยงกับมิติด้านการพัฒนาอื่นๆ อาทิ การขจัดความยากจนและการขาดโอกาสในสังคม สาธารณสุข การศึกษา ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และ
การเข้าถึงตลาด เป็นต้น โครงการพัฒนาทางเลือกมิได้เห็นผลเพียงแค่ชั่วข้ามคืน หากแต่ต้องใช้เวลา ความพยายามและความมุ่งมั่นจากทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม การพัฒนาทางเลือกควรเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงควรรวมไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศและรวมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ผลการประชุมในครั้งนี้จะถูกนำเสนอในที่ประชุม reconvened session ของการประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด สมัยที่ ๕๘ ในเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ เพื่อนำไปใช้เป็นข้อเสนอแนะสำหรับเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาสหประชาชาติว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ซึ่งกำหนดจะจัดระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ เมษายน ๒๕๕๙ ณ นครนิวยอร์ก
***********
๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๕๘
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--