ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเน้นย้ำถึงประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มฯ ประกอบด้วย (๑) การสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเสนอหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางเลือกสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (๒) การส่งเสริมความร่วมมือใต้ – ใต้ (South – South Cooperation) (๓) การสร้างพื้นฐานที่มั่นคงในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความท้าทายระดับโลกอื่น ๆ และ (๔) การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการประสานงานระหว่างสาขาต่าง ๆ ของกลุ่มฯ ไทยในฐานะประธานกลุ่มฯ พร้อมที่จะเป็นผู้สร้างสะพานเชื่อมระหว่างฝ่ายต่าง ๆ (bridge-builder) ไม่ว่าจะเป็นระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน หรือระหว่างประเทศกำลังพัฒนากับประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อสร้างหุ้นส่วนระดับโลกในการขับเคลื่อน การอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ตามหัวข้อหลักของการเป็นประธานกลุ่มฯ ของไทย คือ “จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ: ความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมทุกฝ่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”
กลุ่ม ๗๗ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๗ โดยประเทศกำลังพัฒนา ๗๗ ประเทศ (จึงเป็นที่มาของชื่อกลุ่มฯ) ปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งสิ้น ๑๓๔ ประเทศ จึงถือเป็นกลุ่มเจรจาต่อรองที่ใหญ่ที่สุดในเวทีสหประชาชาติ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศกำลังพัฒนาในสหประชาชาติและส่งเสริมความร่วมมือใต้-ใต้ ทั้งนี้ กลุ่ม ๗๗ มีสำนักเลขาธิการตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ก และมีจุดประสานงานในเมืองที่มีสำนักงานสหประชาชาติตั้งอยู่ อาทิ นครเจนีวา กรุงไนโรบี กรุงปารีส กรุงโรม กรุงเวียนนา และกรุงวอชิงตัน
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--