กระทรวงการต่างประเทศและองค์การเพื่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาร่วมจัดสัมมนาเพื่อนำเสนอรายงาน “OECD Economic Outlook for Southeast Asia, China and India 2016: Enhancing Regional Ties”

ข่าวต่างประเทศ Monday January 25, 2016 13:14 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๙ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation andDevelopment—OECD) จัดการสัมมนาเพื่อนำเสนอรายงาน OECD Economic Outlook forSoutheast Asia, China and India 2016: Enhancing Regional Ties โดยมีนายอภิชาติ ชินวรรณโณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนา นาย Kensuke Tanaka ผู้แทนจาก OECD เป็นผู้นำเสนอรายงาน นายชุตินธร คงศักดิ์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการอภิปราย และผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตลอดจน ดร. สุทัศน์ เศรษฐ์บุญสร้าง อดีตรองเลขาธิการอาเซียน เป็นผู้ร่วมอภิปราย

นาย Kensuke Tanaka หัวหน้าฝ่ายเอเชียของ OECD Development Centre นำเสนอเนื้อหาของรายงานว่า ภูมิภาคอาเซียนมีแนวโน้มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของโลกโดยมีปัจจัยหลักที่อาจกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค คือ การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนให้เกิดขึ้นได้ จะต้องเพิ่มความสอดคล้องของนโยบายเศรษฐกิจ ลดความแตกต่างด้านการพัฒนา และปรับปรุงระบบการติดตามผลของการรวมตัวทางเศรษฐกิจ

สำหรับประเทศไทย ควรเน้นการปรับปรุงนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และการส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อส่งเสริมการเติบโตในระยะกลาง

นอกจากนี้ ผู้ร่วมอภิปรายเห็นว่า การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน ความผันผวนของราคาน้ำมัน การตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียนดำเนินนโยบายที่มีความสอดคล้องทางนโยบายการค้า การลงทุน และการเงิน ตลอดจนการเพิ่มความร่วมมือกับ OECD ในการให้ความเห็นด้านนโยบายทางเศรษฐกิจ จะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาคอาเซียน

OECD Economic Outlook for Southeast Asia, China and India เป็นรายงานประจำปี จัดทำโดย OECD Development Centre มีเนื้อหาเกี่ยวกับการประเมินและบทวิเคราะห์แนวโน้มภาพรวมทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จีน และอินเดีย หรือภูมิภาค “Emerging Asia” โดยเนื้อหาของรายงานฉบับปี ค.ศ. ๒๐๑๖ เป็นการวิเคราะห์กระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะภายใต้บริบทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานนี้ได้จากเว็ปไซต์ http://www.oecd.org/dev/asiapacific/SAEO2016_final_web.pdf

องค์การเพื่อความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๐๔ โดยมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศสมาชิกผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมการค้าเสรี และให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา โดย OECD เป็นองค์กรวิจัยที่มีคุณภาพที่สุดองค์กรหนึ่งของโลก โดยเป็นแหล่งรวมข้อมูลวิจัยด้านต่าง ๆ ให้ประเทศสมาชิกสามารถปรึกษา ค้นคว้า รวมทั้งขอข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ ปัจจุบัน สมาชิกของ OECD ประกอบด้วยสหภาพยุโรป และประเทศพัฒนาแล้ว ๓๔ ประเทศ นอกจากนี้ OECD ยังมีความพยายามเพิ่มความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกอย่างต่อเนื่องอีกกว่า ๗๐ ประเทศ ซึ่งรวมถึงไทยด้วย

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ