ทั้งนี้ ในฐานะที่ไทยเผชิญกับการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ไทยจึงให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้โดยเร่งด่วน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาและการส่งเสริมการพัฒนาที่ประเทศต้นทาง และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือภายใต้กรอบกระบวนการบาหลีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในโอกาสเดียวกันนี้ เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ ไทยได้หารือกับอีก ๔ ประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ได้แก่ บังคลาเทศ มาเลเซีย เมียนมา และอินโดนีเซีย และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) และสำนักงานว่าด้วย ยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เพื่อติดตามผลจากการประชุมสมัยพิเศษว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๓ - ๔ ธันวาคม ๒๕๕๘ ที่กรุงเทพฯ ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบพัฒนาการ การดำเนินการของแต่ละประเทศและองค์กร และยังได้หารือเกี่ยวกับการดำเนินโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ระดับภูมิภาค ซึ่งไทยได้ริเริ่มด้วยความร่วมมือกับ IOM เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ และเพื่อส่งเสริมการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย และส่งสัญญาณเตือนไปยังเครือข่ายกลุ่มค้ามนุษย์ให้หยุดพฤติการณ์ที่ผิดกฎหมาย
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--