เมื่อวันที่ ๑๐ – ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๙ รัฐบาลร่วมกับสำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (United Nations International Strategy for Disaster Reduction – UNISDR) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) จัดการประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการอนุวัติประเด็นสาธารณสุขภายใต้กรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๓๐ (Sendai Framework for Disaster Risk Reduction 2015 – 2030) ณ โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกว่า ๑๒๐ คน จาก ๔๗ ประเทศ และผู้เข้าร่วมจากภาคสาธารณสุข องค์การระหว่างประเทศ ภาควิชาการ ภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวม ๒๓๓ คน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการดำเนินการด้านสาธารณสุขภายใต้กรอบการดำเนินงานเซนไดฯ
ที่ประชุมได้เน้นถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างการบริหารจัดการภัยพิบัติโดยทุกภาคส่วนในทุกระดับ โดยเฉพาะการบูรณาการด้านสาธารณสุขเข้ากับนโยบายและแผนการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยการเสริมสร้างศักยภาพ การวิจัยและพัฒนา การเก็บข้อมูล เทคโนโลยีการสื่อสารที่สร้างสรรค์ และการมีนโยบายที่สอดประสาน จะเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการส่งเสริมความสามารถในการปรับตัวและแก้ไขปัญหาของชุมชนท้องถิ่นด้วย
นอกจากนี้ ได้มีการหารือถึงความสำคัญของมาตรการเสริมสร้างศักยภาพการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะศักยภาพของบุคลากร ระบบเตือนภัยล่วงหน้า การเฝ้าระวังโรคระบาด อุปกรณ์ด้านสาธารณสุข และสาธารณูปโภคด้านสาธารณสุข นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นความเสี่ยงด้านชีวภาพ และบทบาทของชุมชนในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัยพิบัติ โดยเห็นพ้องว่า จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มเสี่ยงเป็นอันดับแรก และเร่งเสริมสร้างกลไกเพื่อเป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมด้วย
ผู้อภิปรายได้เรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆ ดำเนินงานในรูปแบบที่มีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน โดยร่วมกับภาคเอกชนและประชาชนในการบริหารความเสี่ยงต่อภัยพิบัติ การป้องกัน การเตรียมความพร้อมรับมือ รวมทั้งการฟื้นฟูเยียวยา นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมมีความเห็นว่า ควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ การแบ่งปันข้อมูล ตลอดจนการดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย และความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในช่วงพิธีปิดการประชุมฯ ได้มีการรับรอง “หลักการกรุงเทพฯ ว่าด้วยการอนุวัติประเด็นสาธารณสุขภายใต้กรอบการดำเนินงานเซนไดเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ค.ศ. ๒๐๑๕ – ๒๐๓๐” ซึ่งประกอบด้วย หลักการ ๗ ข้อ เพื่อเป็นมาตรการสำหรับการปฏิบัติและติดตามการอนุวัติประเด็นสาธารณสุขในกรอบการดำเนินงานเซนไดฯ
เอกสารผลลัพธ์ของการประชุม รวมทั้งหลักการกรุงเทพฯ จะถูกนำเสนอในกรอบระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น การประชุมระดับรัฐมนตรีภูมิภาคเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ ๗ ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๙ ที่ประเทศอินเดีย รวมทั้งการประชุมระดับสูงว่าด้วยความมั่นคงด้านสาธารณสุขสากลที่กำหนดจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ ณ เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส รวมถึงกระบวนการทบทวนกฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ. ๒๐๐๕ และการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ ๖๙ ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ ด้วย
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--