ในวันที่ ๑๗-๑๘ มีนาคม ๒๕๕๙ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางไปประเทศสิงคโปร์เพื่อเป็นประธานร่วมในการประชุมระดับสูงเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐ ปีการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อการต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธในเอเชีย (Regional Cooperation Agreement on Combating Piracy and Armed Robbery against Ships in Asia Information Sharing Centre หรือ ReCAAP ISC) ร่วมกับนายเคา บุน วัน (Mr. Khaw Boon Wan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศยังได้รับเชิญเป็นผู้กล่าวสุนทรพจน์ (Keynote Address) ในการสัมมนา Emerging Maritime Security Challenges in Asia and Region’s Responses ในวันที่ ๑๘ มีนาคม ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมสัมมนาจากทั้งภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ ภาคอุตสาหกรรมการเดินเรือ และผู้สนใจอื่น ๆ ด้วย
การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงท่าทีและความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมกับประเทศสมาชิก ReCAAP ในการแก้ไขปัญหาการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือในเอเชีย โดยเฉพาะบริเวณช่องแคบมะละกาและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการเดินเรือ ทั้งชีวิตและทรัพย์สินของคนเรือ รวมถึงขจัดอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เนื่องจากการขนส่งสินค้าส่วนใหญ่ของประเทศทั้งหลาย รวมถึงของประเทศไทย เป็นการขนส่งทางทะเล และจากสถิติเมื่อปี ๒๕๕๘ มีการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือในเอเชียเกิดขึ้นถึง ๒๐๐ ครั้ง และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การกระชับและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐ รวมถึงรัฐชายฝั่งเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาและปราบการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือ ตลอดจนความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจเดินเรือ จึงจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการส่งออกสินค้าของไทย
นอกจากนี้ เพื่อร่วมฉลองครบรอบ ๑๐ ปีของศูนย์ Re CAAP ISC รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมอบเงินสนับสนุนเพื่อใช้ในการพัฒนาศูนย์ฯ และจัดโครงการส่งเสริมขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทางทะเลของประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาโจรสลัดอย่างมีประสิทธิภาพ และในช่วงเดือนมิถุนายน ๒๕๕๙ ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคลัสเตอร์ของ ReCAAP ด้วย ไทยให้ความสำคัญและมีบทบาทสร้างสรรค์ร่วมกับนานาประเทศในการรักษาความมั่นคงทางทะเล โดยนอกเหนือจากกรอบ ReCAAP และกรอบต่าง ๆ ของอาเซียนแล้ว ไทยมีความร่วมมือในการประสานการลาดตระเวนทางทะเลในบริเวณช่องแคบมะละกา (Malacca Straits Coordinated Patrol: MSCP) กับมาเลเซีย สิงคโปร์และอินโดนีเซีย โดยได้จัดส่งกำลังจากกองทัพเรือเข้าร่วมนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ และตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ ไทยยังได้เข้าร่วมการลาดตระเวนทางอากาศภายใต้ Eyes in the Sky กับประเทศเหล่านี้ด้วย
ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ปัญหาโจรสลัดในพื้นที่อ่าวเอเดน นอกฝั่งประเทศโซมาเลียมีความรุนแรงมากช่วงปี ๒๕๕๒-๒๕๕๔ ไทยก็ได้ส่งหมู่เรือปราบปรามโจรสลัด (มปจ.) ไปปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองกำลังผสมนานาชาติ (Combined Maritime Forces: CMF) จำนวน ๒ ชุดเมื่อปี ๒๕๕๓ และ ๒๕๕๔ รวมถึงส่งผู้แทน ทร.ดำรงตำแหน่ง ผบ. กองกำลังเรือ Combined Task Forces (CTF) ๑๕๑ พร้อมทั้งจัดชุด จนท. ทร. เป็นฝ่ายอำนวยการรวม ๑๕ นาย ไปปฏิบัติงานภายใต้ CMF ด้วย ซึ่งความร่วมมือในการลาดตระเวนดังกล่าวมีส่วนสำคัญที่ทำให้ไม่มีการก่อเหตุโจรสลัดหรือการปล้นเรือได้สำเร็จในพื้นที่อ่าวเอเดนนับแต่กลางปี ๒๕๕๕ เป็นต้นมา
ศูนย์ ReCAAP ISC จัดตั้งขึ้นตามความตกลง ReCAAP ซึ่งมีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ และได้รับการยอมรับจาก International Maritime Organization (IMO) ว่าเป็นต้นแบบของกรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อต่อต้านการกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธ มีหน้าที่เป็นตัวกลางในการประสานข้อมูลเมื่อเกิดเหตุการณ์โจรสลัดและการปล้นเรือให้ประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องทราบผ่าน National Focal Points (ของไทยคือ กองทัพเรือ) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือเรือ ติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้อย่างทันท่วงที และจัดโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายของประเทศสมาชิกเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้ง รวบรวมข้อมูล จัดทำสถิติและวิเคราะห์เพื่อประเมินความเสี่ยงภัยให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก
ปัจจุบัน ReCAAP มีสมาชิกจำนวน ๒๐ ประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคได้แก่ ญี่ปุ่น ลาว สิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ เมียนมา เกาหลีใต้ กัมพูชา เวียดนาม อินเดีย ศรีลังกา จีน บังคลาเทศ บรูไน นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันผู้แทนไทยดำรงตำแหน่งประธานสภาบริหารศูนย์ ReCAAP ISC
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--