รัฐบาลไทยได้รับการชื่นชมจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เกี่ยวกับการดำเนินการในการแก้ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยนายรูเวนดรินี เมนิกดิเวลา ผู้แทนสำนักงาน UNHCR ประจำประเทศไทยได้ระบุว่า“โอกาสที่นักเรียนไร้รัฐไร้สัญชาตินับพันคนจะได้รับสถานะทางกฎหมาย นับเป็นพัฒนาการสำคัญในความพยายามขจัดปัญหาบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติของไทย ทั้งนี้ การกำหนดเป้าหมายและระยะเวลาที่แน่ชัดในเรื่องดังกล่าวนับเป็นแบบอย่างที่ดีต่อภูมิภาคและย้ำให้เห็นถึงความเป็นผู้นำของไทยในเรื่องดังกล่าว” เกี่ยวกับเรื่องนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยตระหนักดีว่า กลุ่มบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงโดยขบวนการค้ามนุษย์ จึงได้เพิ่มความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการปราบปรามการค้ามนุษย์ในภาพรวม โดยมีพัฒนาการที่สำคัญ ดังนี้
- ตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๘ เป็นต้นมา กระทรวงมหาดไทยได้มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อนุมัติให้สัญชาติแก่บุตรหลานของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งมีส่วนทำให้กระบวนการให้สัญชาติเป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา ไทยได้ให้สัญชาติแก่กลุ่มบุคคลดังกล่าวกว่า ๑๘,๗๗๓ คน นับเป็นสถิติที่สูงขึ้นกว่าหลายปีก่อน
- เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทยประกาศว่า กรมการปกครองได้สั่งการให้ที่ว่าการอำเภอทุกแห่ง เร่งตรวจสอบสถานะและให้สัญชาติไทยแก่กลุ่มนักเรียนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยมีนักเรียนที่เข้าข่ายได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวกว่า ๖๕,๐๐๐ คน หรือร้อยละ ๑๕ ของจำนวนบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่ขึ้นทะเบียนแล้วรวมทั้งสิ้น ๔๔๓,๘๖๒ คน (สถานะ ณ ช่วงปลายเดือนตุลาคม ๒๕๕๘) โดยจังหวัดที่มีนักเรียนไร้รัฐไร้สัญชาติน้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๖ เดือน สำหรับจังหวัดที่มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก เช่น ตราด ราชบุรี แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี เชียงราย และเชียงใหม่ จะต้องรายงานความคืบหน้าการดำเนินการทุกเดือน
- นอกจากการมอบสถานะทางกฎหมายแก่กลุ่มบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติแล้ว ไทยยังได้ให้ความช่วยเหลือในสาขาอื่น ๆ แก่กลุ่มบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทยด้วย เช่น การให้สิทธิรักษาพยาบาลและการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้กระชับความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ (เช่น องค์กรภาคเอกชนองค์กรระหว่างประเทศ และผู้นำชุมชน) เพื่อร่วมกันดำเนินการในเรื่องนี้ภายใต้กลไก “ประชารัฐ”
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--