นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดจะร่วมเดินทางพร้อม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานการประชุมร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน
ที่ประชุมผู้นำฯ จะทบทวนพัฒนาการและความคืบหน้า รวมถึงกำหนดทิศทางในอนาคตของกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยและได้รับการสนับสนุนจากจีนและประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ จะพิจารณารับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) ปฏิญญาซานย่าการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๑ (๒) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิตระหว่างประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง และ (๓) รายการโครงการเร่งด่วนเพื่อดำเนินการทันที
กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ประกอบด้วยสมาชิก ๖ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม จีน และไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนา ส่งเสริมการสร้างประชาคมอาเซียน และเน้นการดำเนินการให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยส่งเสริมและให้คุณค่าเพิ่มต่อการดำเนินการที่มีอยู่แล้วในกรอบความร่วมมืออื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมุ่งดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การอนุวัติวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ และเป็นตัวอย่างที่ดีของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลักษณะใต้ - ใต้ ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายที่ไทยให้ความสำคัญในวาระที่จะดำรงตำแหน่งประธานกลุ่ม ๗๗ (G77) ในปีนี้ด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีเปิดการประชุม Boao Forum for Asia ภายใต้หัวข้อหลัก "Asia's New Future: New Dynamics, New Vision" เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ในด้านความเชื่อมโยง การพัฒนาภายใต้หลักการ "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" และการเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ทั้งนี้ การประชุม Boao Forum for Asia จัดขึ้นครั้งแรกในปี ๒๕๔๔ โดยเป็นข้อริเริ่มของนายฟิเดล รามอส อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายบ๊อบ ฮอว์ก อดีตนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และนายโมริฮิโร่ โฮโซกาว่า อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่เสนอต่อนายหู จิ่นเทา รองประธานาธิบดีจีนในขณะนั้น เพื่อจัดให้เป็นเวทีหารือและแสดงวิสัยทัศน์จากภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาควิชาการ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น ๒๘ ประเทศ
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--