ถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรี
ในช่วงการแถลงข่าวร่วม ภายหลังการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๑
วันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง
ผมยินดีที่ได้มาเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ครั้งที่ ๑ ในวันนี้ และเป็นเกียรติที่ได้ทำหน้าที่ประธานการประชุมร่วมกับ ฯพณฯ หลี เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน
ผมเห็นว่า การประชุมในวันนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการก่อตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ซึ่งเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแล้ว ยังเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ทางการเมืองอันแน่วแน่ของประเทศสมาชิก “ที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำสายเดียวกัน และมีอนาคตร่วมกัน” (Shared River, Shared Future) ในการร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาภูมิภาคของเราให้เข้มแข็งเพื่อบรรลุการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศและประชาชนของเรา
ผมยินดีที่แนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง - แม่น้ำโขง ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๒ ได้พัฒนามาสู่การจัดตั้งกรอบความร่วมมือ แม่โขง - ล้านช้าง ที่ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ก็ด้วยการสนับสนุนจากสมาชิกทุกประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่ง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ได้มีบทบาทที่สำคัญในการผลักดันกรอบความร่วมมือนี้
ผู้นำของประเทศสมาชิกทั้งหกมารวมตัวกันในวันนี้เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ร่วมกันต่อกรอบนี้ เพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างพลวัตในการขับเคลื่อนความร่วมมือที่เป็นประโยชน์เท่าเทียมกันแก่ทุกประเทศและประชาชนของเรา เป้าหมายที่สำคัญของกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง จึงมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาค ลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันเองและระหว่างประเทศสมาชิกกับประเทศนอกภูมิภาค
ความร่วมมือภายใต้ ๓ สาขาที่ครอบคลุมด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงสังคม วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน สอดคล้องกับสามเสาหลักของอาเซียน ผมจึงเชื่อมั่นว่า กรอบความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์ในการสร้างความเข้มแข็งแก่อนุภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนได้อย่างดี พร้อมกันนี้ ไทยในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ ณ นครนิวยอร์ก ในปีนี้ พร้อมเป็นสะพานเชื่อมระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อให้ความร่วมมือภายใต้กรอบนี้ ส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐
แม้ว่าจะมีความร่วมมือในสาขาที่รอบด้าน แต่ภารกิจที่ท้าทายของกรอบความร่วมมือใหม่นี้คือ การมีความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์และเพิ่มคุณค่าต่อกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ที่มีอยู่ ซึ่งเป็นที่เห็นพ้องกันว่า คุณค่าเพิ่มสำคัญประการหนึ่ง คือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อมนุษยธรรมและผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำภายใต้กรอบแม่โขง - ล้านช้างจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศสมาชิกเห็นพ้องว่าควรเร่งกำหนดแผนการทำงานของศูนย์นี้อย่างชัดเจน มีระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยเชื่อมโยงกับศูนย์บริหารจัดการน้ำในแต่ละประเทศ รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถ และวิจัยร่วมกัน
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกตกลงกันว่าจะเน้นสาขาห้าด้าน ได้แก่ ความเชื่อมโยง ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมและการผลิต ความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การเกษตรและการลดความยากจน ในระยะแรกของการก่อตั้งกรอบด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ปรากฏอย่างชัดเจนในปฏิญญาซานย่าและแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านศักยภาพในการผลิต ซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมในวันนี้ เช่นเดียวกับรายการโครงการเร่งด่วนของสมาชิกทุกประเทศที่พร้อมดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและยังประโยชน์ที่เท่าเทียมแก่ประเทศสมาชิก โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานรายสาขา เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินโครงการและติดตามความคืบหน้าให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในภาพรวมด้วย
ในการนี้ เพื่อยืนยันความมุ่งมั่นของไทยที่จะมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ในกรอบนี้ ไทยได้เสนอโครงการเร่งด่วนในด้านต่าง ๆ ร่วมกับประเทศสมาชิก เช่น โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการลดความยากจน ซึ่งไทยพร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการน้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนแก่ประเทศสมาชิก นอกจากนี้ ไทยได้เสนอให้ทุนการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างทักษะและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดีระหว่างผู้ประกอบการในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจที่มีอยู่ในประเทศสมาชิก และจะร่วมกับจีนในโครงการด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการป้องกันโรคระบาดที่มีแมลงเป็นพาหะ รวมไปถึงโครงการหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจ และภาษาอังกฤษ ซึ่งได้เสนอร่วมกับเวียดนามด้วย
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความสำเร็จของกรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง จะเสริมสร้างให้อนุภูมิภาคของเรามั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในรูปแบบใต้ - ใต้ ที่ประสบความสำเร็จ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อประเทศและประชาชนของเราทุกคน และเน้นย้ำบทบาทของอนุภูมิภาคของเราในสังคมโลก
สุดท้ายนี้ ผมยินดีที่ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพและเป็นประธานร่วมกับจีนในการประชุมในระดับต่าง ๆ ของกรอบความร่วมมือนี้มาตลอด ผมขอขอบคุณการสนับสนุนและบทบาทที่แข็งขันของทุกประเทศจากจีน ที่เป็นต้นน้ำล้านช้าง มาจนถึงประเทศกลางน้ำอย่างเมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา จนถึงเวียดนามที่เป็นประเทศปลายน้ำ ที่ทำให้กรอบความร่วมมือนี้ประสบความสำเร็จ และขอชื่นชมกัมพูชาที่จะเป็นเจ้าภาพในการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งหน้า ซึ่งไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนกัมพูชาเพื่อให้การประชุมประสบความสำเร็จด้วยดี สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณนายกเทศมนตรีและประชาชนชาวไห่หนานสำหรับการเตรียมการที่ดีเยี่ยมและการต้อนรับที่อบอุ่น ซึ่งทำให้การประชุมผู้นำครั้งนี้เป็นที่น่าจดจำ ผมขอยืนยันความมุ่งมั่นของไทยที่จะยังคงมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและสร้างสรรค์ในการพัฒนาความร่วมมือภายใต้กรอบแม่โขง - ล้านช้าง เพื่อประโยชน์สุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและประชาชนในอนุภูมิภาคนี้ต่อไป
ขอขอบคุณ
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--