คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อ “Asia’s New Future: New Dynamics, New Vision” ในโอกาสการประชุม Boao Forum for Asia (BFA) Annual Conference

ข่าวต่างประเทศ Friday March 25, 2016 13:23 —กระทรวงการต่างประเทศ

คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อ “Asia’s New Future: New Dynamics, New Vision”

ในโอกาสการประชุม Boao Forum for Asia (BFA) Annual Conference

วันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๙ ณ เมืองโป๋อ๋าว มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อ เฉียง ท่านผู้นำทั้งหลาย ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ก่อนอื่น ผมขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อผู้เคราะห์ร้ายและครอบครัวจากเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคมที่ผ่านมา ไทยขอประนามการกระทำอันไร้มนุษยธรรม และยืนยันความพร้อมที่จะร่วมกับประชาคมโลกในการต่อสู้กับการก่อการร้ายทุกรูปแบบบนพื้นฐานของหลักยุติธรรม ความถูกต้อง และกฎหมายระหว่างประเทศ

ผมยินดีที่มาเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมในวันนี้ และขอชื่นชมท่านประธานยาสุโอะ ฟุคุดะ (Mr. Yasuo Fukuda) รวมถึงท่านเลขาธิการโจว เหวิน จ้ง (Mr. Zhou Wen Zhong) สำหรับการขับเคลื่อน Boao Forum จนประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้

ท่านผู้มีเกียรติ

ภูมิภาคเอเชียของเรามีประชากรกว่า ๔.๕ พันล้านคน มี GDP รวมกันทั้งสิ้น ๒๗ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มีมูลค่าการค้ากว่า ๑ ใน ๓ ของมูลค่าการค้าโลก เหล่านี้บ่งชี้ว่า เอเชียจะเป็นศูนย์รวมแรงงานที่มีคุณภาพ วัตถุดิบและฐานการผลิตที่ทรงพลัง มีความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน รวมทั้งนวัตกรรม จึงมีศักยภาพที่จะนำโลกให้ฟื้นตัวจากภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนการเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ ตัวบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นอนาคตที่สดใสของเอเชียอีกประการหนึ่ง คือ ความเข้มแข็งของประชาคมอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ซึ่งมีประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียหลายประเทศ

อย่างไรก็ดี การเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนต้องเริ่มต้นลงมือทำจากภายใน ซึ่งแต่ละประเทศย่อมมีความพร้อมไม่เท่ากัน ประเทศที่มีความพร้อมด้านเงินทุนและเทคโนโลยีมากกว่า จึงควรเข้าช่วยสนับสนุนประเทศที่มีกำลังน้อยกว่า ในส่วนของไทย ผมขอแบ่งปันประสบการณ์ ดังนี้

ประการแรก ในระดับประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันการเจริญเติบโตและการพัฒนาที่ครอบคลุมที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึง มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในประเทศไทย กำลังจับมือร่วมกันทำงานภายใต้ “กลไกประชารัฐ” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนในภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มการจ้างงาน ลดความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิต

เพื่อบรรลุการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศไทยได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางในการพัฒนาในทุกระดับและภาคส่วน โดยตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ ๓ ประการคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยมีคุณธรรมและความรู้เป็นเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งทำให้ไทยผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ และความท้าทายต่างๆ ตลอดมา ไทยยินดีที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดังกล่าวกับทุกประเทศซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้โดยสอดคล้องกับแต่ละสถานการณ์และพื้นที่ต่อไป

นอกจากนี้ ในอนาคต การพัฒนาความเชื่อมโยงทางดิจิตัลจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและลดความเหลื่อมล้ำ ผมจึงขอชื่นชมแผนปฏิบัติการ Internet plus ของจีนที่เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะขยายครอบคลุมในหลายแง่มุม อีกทั้งช่วยให้คนที่อยู่ชนบทห่างไกลสามารถเข้าถึงการศึกษาและบริการสาธารณะต่าง ๆ ประเทศไทยเองก็อยู่ระหว่างการเร่งพัฒนาระบบไซเบอร์เช่นเดียวกันภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิตัล

ประการที่สอง เพื่อรองรับการพัฒนาและเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค และต่อยอดไปสู่ความเข้มแข็งระดับอนุภูมิภาค และภูมิภาค ไทยจึงได้มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-Curve) ๕ สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเลคโทรนิคอัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) ๕ สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตัล และอุตสาหกรรมแพทย์ครบวงจร โดยมีมาตรการและสิทธิพิเศษทางภาษี

นโยบาย “บวกหนึ่ง” เน้นการส่งเสริมการลงทุนร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค นอกจากนี้ การเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษระหว่างประเทศในภูมิภาคยังเป็นการช่วยลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนระหว่างกัน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมยินดีกับความสำเร็จของจีนในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง ครั้งแรกเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นพื้นฐานหนึ่งที่สามารถต่อยอดแนวคิด “บวกหนึ่ง” ดังกล่าวได้

ประการที่สาม โดยตระหนักถึงความสำคัญของการเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อประชาคมโลก เราได้ลงมือโดยการมีบทบาทแข็งขันและสร้างสรรค์ โดยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) รวมทั้งได้รับความไว้วางใจจากประเทศกำลังพัฒนาให้ทำหน้าที่เป็นประธานกลุ่ม G-77 ซึ่งไทยพร้อมที่จะเป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างประเทศภายในกลุ่ม และกับประเทศพัฒนาแล้วในลักษณะไตรภาคี เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุม โดยมีประเด็นหลักว่า “จากวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติ: การขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐”

ในช่วงสองปีถัดไป ประเทศไทยยังได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ เพื่อร่วมเสริมสร้างสันติสุขและความมั่นคงของโลก ควบคู่ไปกับการพัฒนา และรับมือกับความ ท้าทายของโลกด้วยแนวทางที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (people-centered approach)

ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นที่จะลงมือและร่วมกับนานาประเทศ ในฐานะพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคมโลก เพื่อสร้างโลกที่ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”

อย่างไรก็ตาม โดยที่เป้าหมายการพัฒนาย่อมต้องส่งผลประโยชน์โดยตรงต่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน ทั้งในระดับประเทศชาติและระดับโลกเราจึงต้องก้าวเดินไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างความเจริญร่วมกันบนพื้นฐานของความเชื่อมั่น ลดความหวาดระแวง และผลประโยชน์ที่เท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศ

สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่า ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัว โดยเป็นตัวเชื่อมสำคัญที่หลอมรวมหุ้นส่วน 4 Ps Public-Private-People Partnership ให้สมบูรณ์ และเป็นพลังขับเคลื่อนให้ภูมิภาคนี้เป็นศูนย์รวมความเจริญของโลกในอนาคต

ขอบคุณครับ

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ