การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ครั้งที่ ๔ (The 4th Nuclear Security Summit : NSS)

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 29, 2016 17:05 —กระทรวงการต่างประเทศ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดจะร่วมคณะผู้แทนไทยนำโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ดร.พิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงนิวเคลียร์ ครั้งที่ ๔ (The 4th Nuclear Security Summit : NSS) ระหว่างวันที่ ๓๑ มีนาคม – ๑ เมษายน ๒๕๕๙ ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

การประชุมดังกล่าว จะมีผู้นำจากกว่า ๔๐ ประเทศ รวมทั้ง หัวหน้าองค์การระหว่างประเทศ ๔ องค์การที่มีบทบาทในประเด็นความมั่นคงนิวเคลียร์ ได้แก่ สหประชาชาติ ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ องค์การตำรวจสากล และสหภาพยุโรป เข้าร่วม ซึ่งการเข้าร่วมประชุมของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้จะเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองที่แน่วแน่ที่จะร่วมมือกับนานาประเทศในการเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ได้รับ ความสนใจมากขึ้น และหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องจะได้รับประโยชน์จากการขยายเครือข่ายความร่วมมือและสานต่อการดำเนินงานซึ่งที่ประชุมระดับผู้นำได้ริเริ่มไว้เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลข่าวสาร และข่าวกรอง รวมทั้ง การเสริมสร้างขีดความสามารถและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์ อันจะเป็นประโยชน์ร่วมกันของคนทั้งโลก

แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ใช่ประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่เรื่องนิวเคลียร์เป็นเรื่องใกล้ตัวประเด็นหนึ่ง เนื่องจากมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในทางสันติอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน ทั้งด้านการแพทย์และอนามัย เกษตรกรรม อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม และการวิจัย โดยสถานปฏิบัติการทางนิวเคลียร์ เช่น โรงพยาบาล ห้องปฏิบัติการ โรงงานอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา มีการใช้วัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสีต่างๆ ซึ่งต้องมีการควบคุมการจัดหา การใช้งาน การจัดเก็บ การกำจัดกาก และการบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล รวมทั้ง การป้องกันการโจรกรรมหรืออุบัติเหตุจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการป้องกันมิให้วัสดุเหล่านี้ตกไปอยู่กับ ผู้ที่ไม่ประสงค์ดีเพื่อนำไปใช้ในทางที่ผิด รวมทั้ง การลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงในวงกว้าง ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่เวทีการประชุมฯ ให้ความสำคัญและไทยได้เข้าร่วมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณชนด้วย

การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยความมั่นคงทางนิวเคลียร์เป็นความริเริ่มของนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการเสริมสร้างความมั่นคงทางนิวเคลียร์และต่อต้านการก่อการร้ายที่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเน้นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและการปฏิบัติตามพันธกรณีในเรื่องความมั่นคงทางนิวเคลียร์ โดยดำเนินมาตรการที่รัดกุมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการป้องกันและรักษาวัสดุนิวเคลียร์และวัสดุกัมมันตรังสีมิให้ไปอยู่ในความครอบครองของกลุ่มบุคคลที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจนำไปใช้ในทางที่มุ่งร้าย นับเป็นการดำเนินการเชิงป้องกันการก่อการร้ายทางนิวเคลียร์ และเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ