ตามที่เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๙ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติ และหัวหน้า คสช.ได้ออกคำสั่งที่ ๑๓/๒๕๕๙ นั้น กระทรวงการต่างประเทศได้สั่งการให้เอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ทั่วโลกชี้แจงสร้างความเข้าใจกับรัฐบาลต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ ดังนี้
๑. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติ
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๙ โดยร่างดังกล่าวสะท้อนความต้องการของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ อันเป็นผลจากการเปิดรับฟังความเห็นในขั้นตอนการยกร่างเพื่อให้สาธารณชนได้เข้ามามีส่วนร่วม
- ร่างรัฐธรรมนูญฉบับก่อนลงประชามติประกอบด้วย ๒๗๙ มาตรา มีหลักการสำคัญ คือ การมุ่งเน้นผลประโยชน์ของประชาชน การเสริมสร้างความทัดเทียมและขจัดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงการปกป้องสิทธิของประชาชน โดยในช่วงการปรับแก้ร่างฯ ได้มีการเพิ่มบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิและความเท่าเทียมกันของประชาชนในหลายเรื่อง เช่น การเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิสตรี การกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการดำเนินการต่าง ๆ โดยประชาชนมิต้องเรียกร้อง การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐในกรณีที่กระทำการโดยมิชอบ และการมีบทบัญญัติที่เสริมสร้างระบบการเมืองที่ใสสะอาดและสุจริตและสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชน
- นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติหลักการประกันสิทธิที่ดีขึ้น เช่น สิทธิชุมชน ข้อบทเกี่ยวกับการห้ามเลือกปฏิบัติ และสิทธิในการเข้าถึงการเยียวยา ทั้งนี้ หัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ การปฏิรูประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปโดยเร็ว และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี
- ในส่วนของบทเฉพาะกาล เป็นเพียงบทบัญญัติชั่วคราวในระยะเปลี่ยนผ่านขณะอยู่ระหว่างการปฏิรูปประเทศซึ่งจะยกเลิกไปในที่สุด โดยบทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นหลักประกันแก่ประเทศในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน
- รัฐบาลไทยยึดมั่นดำเนินการตาม Roadmap โดยกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ตาม Roadmap เพื่อการลงประชามติซึ่งในชั้นนี้กำหนดเป็นวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ และนำสู่การเลือกตั้งทั่วไปภายในปี ๒๕๖๐
๒. คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๓/๒๕๕๙
- คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๓/๒๕๕๙ ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๙ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามอาชญากรรมและผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมานานในสังคมไทย โดยมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอย่างสงบสุข ปราศจากการข่มขู่ คุกคามของผู้มีอิทธิพล
- คำสั่งได้ให้อำนาจแต่งตั้งนายทหารยศตั้งแต่ร้อยตรี เรือตรี และเรืออากาศตรี เป็นผู้ช่วยสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญาที่มีอยู่แล้วจำนวน ๒๗ ฉบับ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- การดำเนินคดีจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพนักงานสอบสวนและทำสำนวนยื่นฟ้องดำเนินคดีในศาลพลเรือน ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องพฤติกรรมดังกล่าวได้
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--