เมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๙ นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศและนาย Yuriy Kryvonos รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเพื่อสันติภาพและการลดอาวุธในเอเชียและแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (United Nations Regional Centre for Peace and Disarmament in Asia and the Pacific: UNRCPD) ได้เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติตามสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (Southeast Asia Workshop on Building Capacity for the Implementation of the Arms Trade Treaty) ซึ่งสหประชาชาติร่วมกับรัฐบาลไทยจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔-๕ เมษายน ๒๕๕๙ ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพมหานคร
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธ (Arms Trade Treaty: ATT) แก่เจ้าหน้าที่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ จากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพของประเทศเหล่านี้ในการปฏิบัติตามสนธิสัญญาฯ ต่อไปด้วย ทั้งนี้ ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีประเทศใดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้ให้สัตยาบันและมีสถานะเป็นรัฐภาคีของสนธิสัญญาฯ โดยสมบูรณ์ แต่มีประเทศที่ลงนามสนธิสัญญาฯ แล้วและอยู่ระหว่างกระบวนการภายในประเทศเพื่อพิจารณาให้สัตยาบัน จำนวน ๕ ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ ไทย อย่างไรก็ดี เป็นที่คาดการณ์ว่าในอนาคต สนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธจะกลายเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อการถ่ายโอนอาวุธระหว่างประเทศในระดับโลก ทั้งต่อรัฐภาคีและประเทศที่ไม่ใช่รัฐภาคี
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ทั้งจากภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย และกระทรวงการต่างประเทศกรีซ จากสหประชาชาติ ได้แก่ สำนักงานกิจการการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for Disarmament Affairs: UNODA) และองค์กรภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ ได้แก่ Small Arms Survey และ RAND Corporation ส่วนประเทศที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม
การร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติตามสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธครั้งนี้แสดงถึงเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นของไทยในการบรรเทาและขจัดผลกระทบของการถ่ายโอนอาวุธตามแบบระหว่างประเทศอย่างผิดกฎหมายหรือโดยขาดการกำกับควบคุม ซึ่งนอกจากจะมีผลในการป้องกันและปราบปรามการก่ออาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงแล้วยังเป็นการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ไทยลงนามสนธิสัญญาว่าด้วยการค้าอาวุธเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ และอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาให้สัตยาบัน
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--