เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๕๙ (ตามเวลาประเทศไทย) นาย John Kerry รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้แถลงเผยแพร่รายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๕ ซึ่งเป็นรายงานที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจัดทำขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อรายงานต่อรัฐสภาสหรัฐอเมริกาตามกฎหมาย Foreign Assistance Act ค.ศ. ๑๙๖๑
รายงานการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศต่าง ๆ ประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๕ เป็นรายงานฉบับที่ ๔๐ ครอบคลุม ๑๙๕ประเทศ ใน ๖ ภูมิภาคทั่วโลก โดยในบทแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สรุปแนวโน้มสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐอเมริกามีความห่วงกังวลที่สุด ๓ ประเด็น ได้แก่ (๑) การละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มมากขึ้นของกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่รัฐ (non-state actor) อาทิ กลุ่ม ISIS, Boko Haram, Al Shabab และกลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติอื่น ๆ (๒) การที่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งพยายามบั่นทอนองค์กรและกระบวนการประชาธิปไตย เช่น การลดอำนาจฝ่ายตุลาการ เพื่อให้ตนอยู่ในอำนาจนานขึ้น และ (๓) ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น
ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย รายงานได้กล่าวถึงทั้งความก้าวหน้าและข้อจำกัดเช่นเดียวกับเมื่อกล่าวถึงประเทศอื่น ๆ อีกกว่า ๑๙๐ ประเทศ โดยข้อจำกัดบางประการของไทยในรายงาน อาทิ เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองการดำเนินคดีกับผู้ต้องสงสัยที่เป็นพลเรือนในศาลทหาร ในขณะที่ความก้าวหน้าของไทยที่รายงานระบุถึง อาทิ การสนับสนุนส่งเสริมสิทธิของสตรี การบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันที่เข้มงวดขึ้นเมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๗ เช่น การจับกุมและลงโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทุจริต การดำเนินคดีกับอดีตผู้นำในกรณีโครงการรับจำนำข้าว การดำเนินคดีกับผู้ค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาที่สงขลาซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่เกี่ยวข้อง การสืบสวนกรณีข้อกล่าวหาทุจริตอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเอาจริงเอาจังและการไม่เลือกปฏิบัติในการปราบปรามการทุจริตของรัฐบาล
ทั้งนี้ บทนำของรายงานยังได้แสดงข้อห่วงกังวลต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเกือบ ๓๐ ประเทศเป็นการเฉพาะซึ่งในจำนวนนี้ ๔ ประเทศเป็นสมาชิกของอาเซียน แต่ประเทศไทยไม่ได้ถูกกล่าวถึงด้วยความห่วงกังวลในบทนำดังกล่าว
อนึ่ง รายงานได้ระบุถึงกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐเพิ่มเติมบางฉบับ ซึ่งรัฐบาลไทยขอยืนยันว่ากฎหมายเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากไทยอยู่ในสถานการณ์พิเศษ และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นไปตามความคาดหวังของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจดังกล่าวอย่างระมัดระวัง ตามความจำเป็นและสร้างสรรค์ โดยใช้กฎหมายปกติเป็นหลักเสมอ ทั้งนี้ ผลการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสถานการณ์ในประเทศไทยมีความสงบเรียบร้อยโดยประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะนำประเทศก้าวไปข้างหน้าสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--