ตามที่เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๙ นายไซอิด รา’เอด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (High Commissioner for Human Rights) ได้แสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ประเทศไทย นั้น
รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อข้อห่วงกังวลของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้ประสานงานกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอย่างใกล้ชิด
โดยได้ชี้แจงในประเด็นสำคัญ ดังนี้
๑. ประเทศไทยเคารพหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในฐานะที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี มีความจำเป็นต้องคำนึงถึงการรักษาความสงบเรียบร้อยและการป้องกันความแตกแยกในสังคมด้วย เนื่องจากขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการปฏิรูปเพื่อนำสู่ความสามัคคีภายในชาติและประชาธิปไตยที่มั่นคงและยั่งยืน
๒. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ ๑๓/๒๕๕๙ เรื่อง การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดบางประการที่เป็นภยันตรายต่อความสงบเรียบร้อยหรือบ่อนทำลายระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายปราบปรามอาชญากรรมและผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมานานในสังคมไทย โดยมุ่งหวังให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตอย่างสงบสุข ปราศจากการข่มขู่ คุกคามของผู้มีอิทธิพล โดยได้ให้อำนาจแต่งตั้งนายทหารเป็นผู้สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญาโดยในการดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นพนักงานสอบสวนและทำสำนวนยื่นฟ้องดำเนินคดีในศาลพลเรือน คำสั่งดังกล่าวจะทำให้การดำเนินการตามนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ ผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องพฤติกรรมดังกล่าวได้
๓. คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ ๑๔/๒๕๕๙ เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมแนวทางการดำเนินงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งด้านความมั่นคงและการพัฒนาพื้นที่ให้มีการบูรณาการและมีเอกภาพมากยิ่งขึ้น
๔. การร่างรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการที่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุม โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ ในการปรับแก้ รวมถึงข้อเสนอแนะของกระทรวงการต่างประเทศเกี่ยวกับประเด็นสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งมีส่วนที่สอดคล้องกับข้อคิดเห็นของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติแสดงความชื่นชมไทย
๕. พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๙ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยสาธารณชนเป็นไปโดยสงบเรียบร้อยในช่วงก่อนการลงประชามติ ในวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ โดยประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเผยแพร่ความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย ทั้งนี้ ผลการลงประชามติย่อมขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประชาชน
ในการนี้ รัฐบาลไทยพร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์และร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศและภาคส่วนต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์และต่อเนื่องต่อไป
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--