เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙ คณะผู้แทนไทย นำโดยนายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อรับรองรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ภายใต้กระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) รอบที่ ๒ ในช่วงการประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ ๒๕ ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
ภายหลังจากที่ประชุมได้รับรองร่างรายงานของไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวถ้อยแถลงขอบคุณประเทศต่าง ๆ สำหรับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ กำลังใจ และการสนับสนุนประเทศไทยในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้การนำเสนอรายงานและการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะจำนวนมากสอดคล้องกับหลักการและทิศทางนโยบายของไทยอยู่แล้ว
จากข้อเสนอแนะทั้งหมด ๒๔๙ ข้อ คณะผู้แทนไทยตอบรับทันทีจำนวน ๑๘๑ข้อ (คิดเป็นร้อยละ ๗๒.๖๙ เปรียบเทียบกับจำนวนข้อเสนอแนะที่ไทยได้ตอบรับทันทีในการทบทวนรอบแรก ร้อยละ ๕๘.๑๔) อาทิ การภาคยานุวัติอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และการเข้าเป็นภาคีพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการด้านสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี ผู้พิการ การส่งเสริมสิทธิทางการศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิภาพแรงงาน ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการแสดงความเห็น ทั้งนี้ คณะผู้แทนฯ จะนำข้อเสนอแนะที่เหลืออีกจำนวน ๖๘ ข้อกลับมาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะแจ้งตอบรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ ๓๓
ที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายน ๒๕๕๙
นอกจากการตอบรับข้อเสนอแนะดังกล่าว ไทยยังได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน อาทิ การปรับแก้กฎหมายภายในให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศหรือคำแนะนำของคณะกรรมการประจำตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมหลักการสิทธิมนุษยชนกับภาคธุรกิจ ความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและประเทศต่างๆ เพื่อผลักดันการนำข้อเสนอแนะที่ตอบรับไปผลักดันไปสู่การปฏิบัติต่อไป ซึ่งคำมั่นดังกล่าวจะรวมอยู่ในรายงานฉบับสมบูรณ์ที่คณะทำงานฯ จะเสนอต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ในเดือนกันยายนต่อไป
อนึ่ง UPR เป็นกระบวนการภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่เปิดโอกาสให้แต่ละประเทศสามารถให้ข้อเสนอแนะด้านสิทธิมนุษยชนกับประเทศอื่น ๆ อย่างสร้างสรรค์และเท่าเทียม ในลักษณะของเพื่อนแนะนำเพื่อน (peer review) ประเทศไทยมีกำหนดนำเสนอรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กระบวนการดังกล่าว รอบที่ ๓ ในปี ๒๕๖๓ โดยไทยจะนำเสนอรายงานกลางรอบ (midterm update) โดยสมัครใจในปี ๒๕๖๑ ด้วย
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--