เมื่อวันที่ ๑๕-๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ไทยได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ ๗๒ ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ ซึ่งในโอกาสนี้ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย กล่าวเปิดการประชุมในช่วงการประชุมระดับรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๙ โดยย้ำความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ โดยคำนึงว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมซึ่งไทยมีบทบาทที่สำคัญในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ และยินดีที่จะแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ บนพื้นฐานของความรับผิดชอบร่วม เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัลและความท้าทายร่วมกันในภูมิภาค
นายวิทวัส ศรีวิหค รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถ้อยแถลงของประเทศไทยต่อที่ประชุมเต็มคณะ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไปสู่ Thailand 4.0 และแลกเปลี่ยนความเห็นต่อแนวทางการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยเฉพาะการส่งเสริมนวัตกรรมของภาครัฐ กิจการเพื่อสังคม การมีแหล่งทุนและทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน ภายใต้นโยบายประชารัฐ รวมทั้งได้ยกตัวอย่างการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหาภายใต้สภาพภูมิสังคม บนพื้นฐานขององค์ความรู้และการมีเหตุผล ที่ประสบความสำเร็จในสาขาการพัฒนาต่าง ๆ อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาดิน
การประชุมประจำปีของเอสแคปเป็นการประชุมของผู้แทนระดับรัฐมนตรีของประเทศสมาชิก ๕๓ ประเทศ และสมาชิกสมทบ ๙ ดินแดน/เขตปกครอง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสำคัญด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอนุมัติแผนงานของสำนักเลขาธิการเอสแคป โดยในปีนี้มีผู้แทนระดับหัวหน้ารัฐบาลจากหลายประเทศเข้าร่วม อาทิ นายกรัฐมนตรีทาจิกิสถาน นายกรัฐมนตรีฟิจิ รองนายกรัฐมนตรีอาเซอร์ไบจาน รองนายกรัฐมนตรีตูวาลู และรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการจากอีกกว่า ๒๐ ประเทศ
หัวข้อหลักการประชุมปีนี้ คือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน (Science, ธTechnology and Innovation for Sustainable Development) โดยได้มีการหารือความร่วมมือและบูรณาการด้านเศรษฐกิจในภูมิภาค พัฒนาการและความร่วมมือกับประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกขนาดเล็ก ฯลฯ รวมถึงมีการรับรองร่างข้อมติต่าง ๆ อาทิ การพัฒนาความเชื่อมโยงทางคมนาคมในเอเชียและแปซิฟิกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในเอเชียและแปซิฟิกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ในฐานะประเทศที่ตั้งของสำนักงานเอสแคป ได้ใช้โอกาสนี้ติดตามพัฒนาการด้านเศรษฐกิจและสังคมแขนงต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาค รวมถึงผลักดันประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ อาทิ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การดำเนินความร่วมมือใต้-ใต้ และไตรภาคี นอกจากนี้
ยังเป็นโอกาสให้ไทยให้ข้อคิดเห็นต่อกลไกระดับภูมิภาคสำหรับนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะปีนี้ เป็นการจัดประชุมครั้งแรกหลังจากการรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--