เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๙ นายทรงพล สุขจันทร์ อธิบดีกรมยุโรป หัวหน้าคณะฝ่ายไทยได้หารือกับนายฟรานซิสโก ดูอาร์ต โลเปซ (Francisco Duarte Lopes) อธิบดีด้านกิจการการเมือง (Political Director) หัวหน้าคณะฝ่ายโปรตุเกส ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย-โปรตุเกส ครั้งที่ ๒ (2nd Thai – Portuguese Political Dialogue) ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส ซึ่งฝ่ายโปรตุเกสเป็นเจ้าภาพการประชุม โดยมีเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลิสบอน เข้าร่วมการหารือในครั้งนี้ด้วย
ก่อนการประชุมฯ อธิบดีกรมยุโรปได้เข้าพบหารือกับนาง Ana Martinho ปลัดกระทรวงการต่างประเทศโปรตุเกส และได้มอบหนังสือเชิญจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศโปรตุเกสเข้าร่วมการประชุม ASEAN-EU Ministerial Meeting (AEMM) ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๓-๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๙ ที่ประเทศไทย
การประชุม Political Dialogue ครั้งที่ ๒ มีผลสรุปที่สำคัญ ดังนี้
๑. ด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ไทยและโปรตุเกสยังมีศักยภาพที่จะขยายเศรษฐสัมพันธ์ระหว่างกันได้อีกมาก โดยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น โดยใช้ AICEP ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุนของโปรตุเกสมาพบปะหารือกับสภาหอการค้าไทย ทั้งนี้ ฝ่ายโปรตุเกสแจ้งว่าในอนาคตจะมีการเปิดสำนักงานของ AICEP ที่สถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย และเสนอให้มีความร่วมมือในด้านพลังงานหมุนเวียนและเศรษฐกิจจากทรัพยากรทางทะเล (economy of the sea) ซึ่งโปรตุเกสมีศักยภาพ
๒. ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ทั้งสองฝ่ายยินดีต่อความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ที่ดำเนินอยู่ และได้หารือกันถึงความร่วมมือโครงการทำนุบำรุงหมู่บ้านโปรตุเกสที่ จ. อยุธยา ซึ่งกรมศิลปากรของไทยอยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอโครงการฯ เพื่อส่งให้ฝ่ายโปรตุเกสพิจารณาในปี ๒๕๖๐ การแลกเปลี่ยนอาจารย์สอนภาษาไทยและโปรตุเกสในสถาบันการศึกษาของ
แต่ละประเทศ การจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาฉบับใหม่ และความร่วมมือด้านวิจัยและนวัตกรรม โดยฝ่ายไทยเสนอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันจัดตั้งกองทุนโดยร่วมกันสนับสนุนเงินทุน และร่วมกันเสนอหัวข้อการวิจัยที่สอดคล้องกับจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย
๓. ฝ่ายไทยยินดีที่กรุงเทพมหานครและกรุงลิสบอนได้ลงนามความตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างกัน และเห็นว่าการมีความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้อง เป็นสิ่งสำคัญที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ทั้นี้ ทั้งสองฝ่ายอาจพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการอันประกอบด้วยภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกผลักดันกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ต่อไปด้วย
๔. ฝ่ายไทยได้แจ้งการเปิดสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก และเสนอที่จะดำเนินความร่วมมือไตรภาคีกับโปรตุเกสในการร่วมพัฒนาประเทศในแอฟริกา โดยเฉพาะกับประเทศแอฟริกาที่พูดภาษาโปรตุเกสที่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับโปรตุเกส ในด้านการศึกษา สาธารณสุข การพัฒนาชุมชน ตลอดจนย้ำคำเชิญของกองทัพเรือไทยที่มีต่อผู้บัญชาการทหารเรือและกองทัพเรือโปรตุเกสเข้าร่วมงาน International Fleet Review 2017 ที่กรุงเทพฯ เพื่อฉลองครบรอบ ๕๐ ปีการก่อตั้ง ASEAN ซึ่งกองทัพเรือไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานระหว่างวันที่ ๑๖-๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๐
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นที่เกี่ยวกับภูมิภาค อาทิ พัฒนาการของอาเซียน ปัญหาการก่อการร้าย และสถานการณ์ในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง Brexit และปัญหาผู้อพยพ เป็นต้น
--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--