ผลการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ อย่างไม่เป็นทางการ

ข่าวต่างประเทศ Monday August 8, 2016 13:48 —กระทรวงการต่างประเทศ

ตามที่เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ได้จัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. .... นั้น ผลการออกเสียงอย่างไม่เป็นทางการ สถานะเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๙.๓๓ น. นับคะแนนแล้วร้อยละ ๙๔ สรุปได้ว่า มีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงทั่วประเทศ จำนวน ๒๗,๖๒๓,๑๒๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๔.๖๑ ของผู้มีสิทธิออกเสียง มีผู้เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญจำนวน ๑๕,๕๖๒,๐๒๗ เสียง คิดเป็นร้อยละ ๖๑.๔๐ ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง และไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน ๙,๗๘๔,๖๘๐ เสียง คิดเป็นร้อยละ ๓๘.๖๐ ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง เป็นผลให้ร่างรัฐธรรมนูญได้รับความ “เห็นชอบ” ในการออกเสียงประชามติ

สำหรับการออกเสียงประชามติประเด็นเพิ่มเติมหรือคำถามพ่วงที่ระบุว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง ๕ ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภา ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นั้น มีผู้เห็นชอบ ๑๓,๙๖๙,๕๙๔ เสียง คิดเป็นร้อยละ ๕๘.๑๑ ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงและไม่เห็นชอบจำนวน ๑๐,๐๗๐,๕๙๙ เสียง คิดเป็นร้อยละ ๔๑.๘๙ ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นผลให้ประเด็นเพิ่มเติมได้รับความ “เห็นชอบ” ในการออกเสียงประชามติ

แม้มิได้มีกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับใดที่กำหนดให้รัฐบาลต้องจัดทำกระบวนการออกเสียงประชามติ แต่รัฐบาลมีความปรารถนาดีที่ต้องการให้เกิดความโปร่งใสและให้ประชาชนได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงกำหนดให้มีขั้นตอนการออกเสียงประชามติไว้ใน Roadmap โดยกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมผ่านการรับฟังความคิดเห็น และการจัดสัมมนาและอภิปรายอย่างต่อเนื่อง อาทิ การอภิปรายทางโทรทัศน์ การจัดเสวนาในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนมีความเข้าใจต่อเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในวงกว้าง

การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญและการออกเสียงประชามติเป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญสำหรับการวางรากฐานของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเสียงของประชาชนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันความมุ่งมั่นและตั้งใจที่จะปฏิรูปประเทศและวางรากฐานที่มั่นคงและยั่งยืนในทุกด้าน โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการตาม Roadmap ซึ่งมุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตย ที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี

สำหรับขั้นตอนในลำดับต่อไป คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในบทเฉพาะกาลให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงภายใน ๓๐ วัน และเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน หากมีการแก้ไขจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน ๑๕ วัน จากนั้นนายกรัฐมนตรีจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภายใน ๓๐ วัน หลังจากนั้น กรธ. จะดำเนินการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและดำเนินการตามขั้นตอนภายในที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งในปี ๒๕๖๐ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ