การประชุม Open-Ended Working Group เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์ในกรอบสหประชาชาติ

ข่าวต่างประเทศ Friday August 26, 2016 15:00 —กระทรวงการต่างประเทศ

เมื่อวันที่ ๑๖ – ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ ได้มีการประชุมคณะทำงานแบบเปิดว่าด้วยการเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์ (Open-Ended Working Group on taking forward multilateral nuclear disarmament negotiations หรือ OEWG) ครั้งที่ ๓ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยมีนายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นประธานคณะทำงานฯ ซึ่งการประชุมมีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจและบรรลุตามเป้าหมายในการมีข้อเสนอแนะให้สมัชชาประชาชาติเริ่มการเจรจาตราสารห้ามอาวุธนิวเคลียร์ที่มีผลพูกพันทางกฎหมายภายในปี ๒๕๖๐ เพื่อนำไปสู่การขจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดสิ้นไป โดยที่ประชุมได้รับรองรายงานด้วยเสียงสนับสนุน ๖๘ ประเทศ คัดค้าน ๒๒ ประเทศ และงดออกเสียง ๑๓ ประเทศ การประชุมนี้นับเป็นการสร้างประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง เนื่องจาก OEWG ได้ช่วยผลักดันการเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์ให้มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในรอบ ๗ ทศวรรษหลังจากที่ประชุมสมัชชาประชาชาติได้รับรองข้อมติเกี่ยวกับการลดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งเป็นข้อมติฉบับแรกในปี ๒๔๘๙

คณะทำงาน OEWG จัดตั้งขึ้นตามอาณัติของที่ประชุมสมัชชาประชาชาติ เพื่อเจรจาเกี่ยวกับมาตรการด้านกฎหมายที่มีประสิทธิผลต่อการขับเคลื่อนการเจรจาลดอาวุธนิวเคลียร์ระดับพหุภาคี และมาตรการอื่น ๆ เช่น การส่งเสริมความโปร่งใสเรื่องการครอบครอง/เก็บรักษาอาวุธนิวเคลียร์ การลดความเสี่ยงจากระเบิดนิวเคลียร์หรือการจุดชนวนอาวุธนิวเคลียร์ และการสร้างความตระหนักรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอันตราย/ผลกระทบของอาวุธนิวเคลียร์ต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งประธานคณะทำงานฯ จะเสนอรายงานต่อที่ประชุมสมัชชาประชาชาติ สมัยที่ ๗๑ ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๙

ถึงแม้ว่าไทยไม่มีนโยบายที่จะครอบครอง พัฒนา หรือจัดหาอาวุธนิวเคลียร์ แต่ประชาชนและสิ่งแวดล้อมอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมได้จากการทดลอง หรือจากระเบิดนิวเคลียร์ หรือการจุดชนวนอาวุธนิวเคลียร์ ไม่ว่าจะโดยอุบัติเหตุหรือโดยความตั้งใจก็ตาม นอกจากผลกระทบอันใหญ่หลวงและกว้างขวางต่อมวลมนุษยชาติแล้ว อาวุธนิวเคลียร์ยังเป็นภัยคุกคามอันร้ายแรงต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศหากตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่ประสงค์ดี ดังนั้น ไทยเชื่อว่า ความคืบหน้าในการทำงานของ OEWG ที่ไทยทำหน้าที่ประธานจึงมีส่วนช่วยปกป้องประเทศจากภัยคุกคามของอาวุธนิวเคลียร์ เสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ไทยจะคงบทบาทที่แข็งขันและสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนให้เกิดความคืบหน้าในการเจรจาตราสารระหว่างประเทศเพื่อนำไปสู่การขจัดอาวุธนิวเคลียร์ต่อไป ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต่อต้านภัยคุกคามประเทศในทุกรูปแบบ

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ