นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ระหว่างวันที่ ๔ – ๕ กันยายน ๒๕๕๙ ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน

ข่าวต่างประเทศ Monday September 5, 2016 11:53 —กระทรวงการต่างประเทศ

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับเชิญจากจีนเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 (G20 Summit) ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ ๔ – ๕ กันยายน ๒๕๕๙ ในฐานะที่ไทย เป็นประธานกลุ่ม ๗๗ วาระปี ๒๕๕๙ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประธานกลุ่ม ๗๗ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

การประชุมผู้นำ G20 ประจำปี ๒๕๕๙ กำหนดจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก คือ “การมุ่งสู่เศรษฐกิจโลกที่สร้างสรรค์ มีพลัง เชื่อมโยง และเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม (Towards an Innovative, Invigorated, Interconnected and Inclusive World Economy)” โดยที่ประชุมจะหารือร่วมกันใน ๕ ประเด็นหลัก ได้แก่ ๑) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแนวทางใหม่ ๒) การมีระบอบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากขึ้น ๓) การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง ๔) การพัฒนาที่ครอบคลุมและเชื่อมโยง และ ๕) ประเด็นอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ในระหว่างการประชุม ไทยจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการประสานนโยบายและความเป็นหุ้นส่วนในรูปแบบใหม่ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ตามกลไกประชารัฐ เพื่อบรรลุการเจิญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง ยั่งยืน และสมดุล ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เนื่องจากการส่งเสริมการพัฒนาในสาขาข้างต้น มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากนี้ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไทยพร้อมที่จะแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับประเทศอื่น ๆ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการดำเนินการเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติด้วย

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการพบหารือทวิภาคีกับ นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๙ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการส่งเสริมความร่วมมือที่เข้มแข็งและกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศด้วย

การได้รับเชิญให้เข้าร่วม G20 Summit ของนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน G77 ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในฐานะผู้สร้างสะพานเชื่อม (bridge builder) ระหว่างสมาชิก G77 และ G20 โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาในการสร้างหุ้นส่วนระดับโลก (Global Partnership) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอย่างยั่งยืนและครอบคลุมไปพร้อม ๆ กับการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐

อนึ่ง กลุ่ม ๒๐ หรือ G20 เป็นเวทีในการหารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ๒๐ ประเทศทั่วโลก โดยก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๙๙ ประกอบด้วยสมาชิก ๑๙ ประเทศ และสหภาพยุโรป โดยขนาดเศรษฐกิจของสมาชิก G20 คิดเป็นร้อยละ ๙๐ ของเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันประมาณ ๒ ใน ๓ ของโลก

--กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ